เป็นบทความที่ผู้เขียนรู้สึกว่า มีความสำคัญกับชีวิต เพราะ เป็นสิ่งที่ผู้เขียนได้ทดลองด้วยตนเองแล้วว่า แนวทางเหล่านี้เป็นประโยชน์ ลองทำแล้วได้ผลจริงประมาณหนึ่ง เลยอยากบันทึก เพื่อเอาไว้อ่านเพื่อทบทวนตัวเองอยู่เสมอ ทั้งนี้ก็เป็นเพียงความคิด และ ประสบการณ์ส่วนตัวของคนๆหนึ่ง ซึ่งอาจไม่ได้ถูกต้องทุกอย่าง ผู้อ่านอย่าลืมตรวจสอบความถูกต้องด้วยตนเองด้วย
หลายๆอย่างที่เราไม่รู้จริงในสิ่งนั้นๆ เรามักคิดว่าเราสามารถคิดเอาเองได้ ไม่จำเป็นต้องศึกษามันจริงๆ แต่เท่าที่สังเกตตัวเองดู การคิดเอาเองของเรา ที่ไม่ประกอบด้วยการเข้าใจหลักการที่ถูกต้อง มักจะทำให้เราคิดวนอยู่กับที่ ไม่ก้าวหน้าในสิ่งนั้นๆ ลองผิด ลองถูก วนไปเรื่อยๆ
วิธีแก้คือ หาหนังสือในเรื่องนั้นๆ อ่าน เพื่อให้สามารถเข้าใจพื้นฐานที่ถูกต้อง ส่วนจะต่อยอดความคิด สร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ ก็สุดแท้แต่เราจะทำภายหลัง
หรือแม้แต่เรื่องที่คิดว่าน่าจะเข้าใจถูกอยู่แล้ว การอ่านหนังสือ ที่สอนหลักการในเรื่องนั้นๆ ที่ถูกต้องจริงๆ ก็จะช่วยปักหมุดความเข้าใจที่ถูกต้องให้อยู่กับเรา ไม่ต้องหลงกับความคิดผิดๆอีก จนต้องลองถูกลองผิดวนซ้ำอีกในอนาคต
ปัญหาอย่างหนึ่งคือ ไม่รู้ตัว ว่าไม่รู้ในเรื่องนั้นๆ คิดว่ามันเป็นเรื่องพื้นฐาน ไม่น่ามีอะไรมากกว่านี้ ไม่เอะใจว่าแบบนี้มันถูกไหมนะ? ไม่ตั้งคำถามว่าจะมีที่ดีกว่านี้ไหมนะ?
ตัวอย่างที่เคยเจอ
- คิดว่าชีวิตก็ดำเนินไปเรื่อยๆแบบนี้ - > อ่านพระไตรปิฎก รู้เรื่องการพัฒนาตนเอง จนเข้าใจไม่มีตัวตนที่แท้จริง ก็ไม่ต้องกลับมาในวังวนความหลงผิด
- คิดว่าการเรียน ก็พยายามอ่านไปแบบนี้ก็ดีที่สุดแล้ว -> มีตำราที่สอนวิธีการ learn how to learn ซึ่งจะทำให้เรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ ไม่ต้องใช้สมองสูญเปล่า
- คิดว่าการเรียนภาษา ก็หาเทคนิคการเรียนเท่าที่เราจะคิดได้ -> มีตำราสอนเทคนิคการเรียนภาษา โดยมีงานวิจัยรับรอง ทำให้เรียนได้ถูกต้อง
- คิดว่าการเทรด การลงทุน สามารถคิดเอาเองได้ -> อ่านตำราเทรด มีหลักการมากมายในนั้น ทั้งวิธีการวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผล การคุมความเสี่ยง แม้แต่การฝึกฝน แง่มุมจิตวิทยา ซึ่งถ้าคิดเอาเอง อาจจะลองถูกลองผิดทีละอย่าง ถูกอย่างนึงผิดอีกอย่าง ก็ไปไม่รอดในที่สุด
ถามว่าในแต่ละศาสตร์ คนเขียนตำราฉลาดกว่าเราหรือไม่? ตอบไม่ได้ เพียงแต่เขาเป็นผู้ค้นพบหรือรวบรวม หลักการที่ถูกต้องในเรื่องนั้นๆ ซึ่งอาจจะเป็นผลลัพธ์จากความเพียรพยายามทั้งชีวิตของคนๆหนึ่ง ที่สนใจในเรื่องนั้นๆ (ถ้าเราอยากคิดเอง อาจต้องลองถูกลองผิดทั้งชีวิต จึงจะค้นพบ)
- เช่น Bill Gates เป็นอัจฉริยะ ยังต้องอ่านหนังสือเทนนิส ที่สอนให้เขา รู้จักสังเกตจิตใจตนเอง และนำมาประยุกต์ใช้ในเกมแข่งขันทางธุรกิจ เป็นต้น แสดงให้เห็นว่า อัจฉริยะ ยังต้องเรียนรู้หลักการที่ถูกต้องจากผู้อื่น ไม่ได้คิดเอาเองได้ทั้งหมด แต่เรื่องการนำไปใช้ อาจจะสามารถมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่า พลิกแพลงได้มากกว่า