- มีอยู่แนวคิดหนึ่ง คือ เราจะแสวงหาความสำเร็จอย่างยิ่งไปเพื่ออะไร ในเมื่อสุดท้ายทุกสิ่งก็จะถูกลืมเลือนเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ไม่มีอะไรคงอยู่ตลอดกาล แม้สิ่งเหล่านี้จะจัดว่าเป็นบุญ(การกระทำที่เกิดประโยชน์) แต่ก็ยังไม่พ้นการเวียนว่ายตายเกิด ไม่พ้นทุกข์จริงๆอยู่ดี
- ในยุคที่เราได้พบเจอกับคำสอนของพุทธศาสนา เป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่งที่มีไม่มาก ที่เราจะสามารถเรียนรู้ตนเองจนเข้าใจความจริงของ กาย-ใจ จนพ้นทุกข์ เราจึงควรให้ความสำคัญกับการศึกษาเรียนรู้กายใจ มากกว่าการทำประโยชน์ภายนอกอื่นๆ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ว่าไม่ต้องทำประโยชน์ภายนอกอะไร เพียงแต่ควรจะเต็มที่กับการแสวงหาปัญญาภายใน คือ การเรียนรู้ตนเอง ให้ได้มากที่สุดก่อน เพราะ ยุคสมัยที่จะมีคำสอนเพื่อความพ้นทุกข์แบบนี้หาได้ยากยิ่ง ส่วนการทำประโยชน์ภายนอก ก็ให้เพียงพอแค่ การสงเคราะห์ตนเองและผู้อื่นให้อยู่สบายแต่พอสมควร เอาไว้ชาติอื่นๆที่ไม่มีพุทธศาสนาค่อยทำแบบเต็มที่ก็ได้ โดยเอาเวลามาพัฒนาสติ เรียนรู้กาย-ใจ ให้ได้มากที่สุด
- แต่ทั้งนี้ เราสามารถพัฒนาทั้งทางโลกและทางธรรม ควบคู่กันไปได้นะ เพียงแต่ให้ความสำคัญกับเป้าหมายด้านการเรียนรู้ตนเอง(เป้าหมายทางธรรม)เป็นอันดับแรก ส่วนทางโลกก็ทำตามความเหมาะสม ยังไงมันก็พัฒนาขึ้นไปด้วยกันได้เรื่อยๆ
- นอกจากนี้ก็ อย่าเสียเวลากับสิ่งบันเทิงต่างๆ ที่ทำให้หลงเพลิดเพลิน หลงลืมเวลาอันมีค่าที่จะเอามาใช้เรียนรู้กายใจ เช่น การดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกมส์ เป็นต้น มาดูละครชีวิตจริงของเราที่เราเป็นตัวละครหลักดีกว่า อยู่เงียบๆ รู้สึกถึงลมหายใจเข้าออก หรือ ฟังเสียงของจิตใจตนเอง ก็ให้ความรื่นรมย์ได้เช่นกัน ส่วนการพยายามทำงานให้ประสบความสำเร็จ ก็ไม่ต่างจากการเล่นเกมส์ในชีวิตจริง
ธรรมะ
- คนอื่นจะทำร้ายเราอย่างไร ก็ไม่สามารถทำให้เราเสื่อมถอยจากคุณลักษณะที่ดีได้ ถ้าเรารักษาศีล (อย่างน้อยศีล 5) ตัวเราจะเสื่อมลง ก็ต่อเมื่อเราทำผิดศีลด้วยตัวเราเอง เช่น ด่าว่าผู้อื่น เป็นต้น
- แต่ก่อนเข้าใจว่า ถ้ามีคนมาทำไม่ดีกับเรา ไม่ควรอดกลั้น ควรระบายออกด้วยการด่า เพื่อไม่ให้เก็บกด แต่ความเป็นจริงนั้น กลับกันเลย การด่าผู้อื่น เป็นการทำให้ตัวเราเองผิดศีลข้อ 4 ทำให้เกิดการสะสมสิ่งไม่ดีเข้าสู่จิตใจของเราเอง และยิ่งทำให้ตัวเราเองเครียดมากขึ้นไปอีก!! แต่พออดกลั้นไม่ทำร้ายผู้อื่น แทนที่จะเก็บกด กลับทำให้เรารู้สึกเบาสบายขึ้นในจิตใจ และ ควบคุมตนเองได้ดีขึ้น ไม่ได้เสื่อมถอยไปตามสิ่งแวดล้อม
- การมีศีล ก็จัดเป็นอภัยทานอย่างหนึ่ง คือ การไม่เบียดเบียนตอบ ไม่จองเวรผู้อื่น ในทางกาย วาจา ซึ่งการให้อภัย การให้ความไม่เบียดเบียน จัดว่าเป็นการให้ที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง (ส่วนทางใจถ้าฝึกสติเรียนรู้ตนเองไปเรื่อยๆ ก็จะค่อยๆละคลายความโกรธ พยาบาท ไปได้เอง)
- คุณลักษณะที่ดี ในที่นี้ คือ จิตใจที่เป็นปกติของเรา ที่ไม่มีความโลภ โกรธ หลง รุนแรงจนเกินปกติ เป็นจิตปกติของมนุษย์ ถ้าในขั้นละเอียดขึ้น ในพระไตรปิฎกจะใช้คำว่า คุณวิเศษที่มีในตน เช่น สติ สมาธิ เป็นต้น ถ้าทำผิดศีล(อย่างน้อยศีล 5) จะทำให้จิตใจเราไม่เป็นปกติ ไม่ว่าจะคุณลักษณะที่ดี หรือ คุณวิเศษที่มีในตน ที่เรารักษาหรือพัฒนามา ก็จะเสื่อมถอยลง
Tags
ต่อให้เราพัฒนาตนเอง ทั้งร่างกาย ให้มีสุขภาพดี แข็งแรง คล่องแคล่ว มีสมองที่ฉับไว สติปัญญาที่ดี ด้วยการออกกำลังกาย การกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การทำ Intermittent Fasting หรือ กระทั่งทำสมาธิแบบฌาณได้ จนมีสมองที่มีประสิทธิภาพเหนือธรรมดา ไปจนถึงพัฒนาทางวัตถุ ที่อยู่อาศัย มีทรัพย์สิน มีสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย
แต่หากจิตใจเรายังคงต้องทุกข์ไปกับกิเลส เช่น ความอยากได้-เมื่อเจอสิ่งที่น่าปรารถนาพอใจ ความไม่อยากได้-เมื่อเจอสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาพอใจ ความโลภ ความโกรธ ความหลงมัวเมา ความไม่เข้าใจชีวิต เป็นต้น ตัวเราก็ไม่ได้มีอะไรที่ดีไปกว่าเดิมจริงๆหรอก มันเหมือนเพียงคนๆเดิม ทุกข์ง่ายเหมือนเดิม เพียงแต่มีสิ่งแวดล้อมรอบตัวดีขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น ซึ่งสุดท้ายสิ่งรอบๆตัวรวมถึงร่างกาย ก็ต้องเสื่อมบุบสลาย คืนโลกไปทั้งหมด
มีเพียงวิธีเดียว เพื่อจะหลุดพ้นจากวงจรแห่ง ความหลง ในสุข-ทุกข์ และ กิเลส คือ การหันมาเรียนรู้ ธรรมชาติของร่างกาย และ จิตใจของเราเอง จนเห็น (1) สภาพที่ไม่เที่ยง(อนิจจัง) ของร่างกาย ที่ต้องคอยแอบขยับเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถตลอดเวลา โดยที่เราไม่รู้ตัว ไม่ได้เกิดจากการควบคุมของเรา, จิตใจ ที่เต็มไปด้วยความแปรปรวน เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็คิดนึก เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็โกรธหงุดหงิด เดี๋ยวก็หลง (2) เห็นถึงสภาพที่ไม่คงทน(ทุกข์ขัง) (3)ไม่ใช่ตัวเรา บังคับไม่ได้จริง(อนัตตา) จนเกิดการปล่อยวาง ความยึดถือ และพ้นทุกข์ได้จริงในที่สุด
วิธีการเรียนรู้ความจริงในธรรมชาติของตนเอง เพื่อให้พ้นทุกข์นี้ คือ วิธีการที่เรียกว่า การเจริญสติปัฏฐาน 4 โดยคำอธิบาย ขยายความโดยละเอียด โดยส่วนตัวยังไม่เก่งพอ กลัวจะอธิบายผิด แนะนำให้อ่านจากพระไตรปิฎกโดยตรง และ เรื่องการอธิบายขยายความ แนะนำให้หาฟังจาก พระอาจารย์ ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม จังหวัดชลบุรี โดยส่วนตัวก็กำลังเรียนรู้อยู่ครับ
Tags
ปัญหาที่เจอคือ ทุกวันนี้ เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตก็ยังคงถูกเอาไปใช้ ทำสิ่งไร้สาระเป็นส่วนมาก มีแค่ไม่กี่ชั่วโมง ที่ได้ทำสิ่งที่มีประโยชน์กับชีวิตจริงๆ ทำให้รู้สึกว่าเสียชีวิตไปเปล่าๆ ในแต่ละวันเยอะมาก
มาวิเคราะห์ดูดีๆ ปัญหาจริงๆมันเกิดจากอะไรกันนะ เกี่ยวกับที่เราไม่ได้จัดตารางเวลารึเปล่า แต่เราก็เคยจัดตารางเวลาอยู่นะ และสุดท้ายก็ทำตามที่วางแผนไว้ไม่ได้, หรือเราต้องฝึกวินัยรึเปล่า แต่มันก็ไม่ต่างกับเหตุผลแรก เดี๋ยวเราก็แหกกฏอยู่ดี แล้วสาเหตุอะไรที่ทำให้เรา ไม่สามารถทำตามแบบแผนที่เราวางไว้
จริงๆเรื่องการวางแผน หรือ ทำตารางชีวิต มันเป็นอะไรที่ไม่ค่อยยืดหยุ่น เราไม่สามารถรู้ได้ว่า สิ่งที่เรากำหนดไว้ว่าจะทำในแต่ละวัน มันเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับเราจริงๆหรือไม่ เช่น วางตารางเวลาไว้แน่น แต่สุดท้ายก็ทำไม่ได้จริง เพราะ ยังไม่ทันทำความเข้าใจกับเนื้อหาเรื่องนึงได้เพียงพอ ก็ไปเรื่องถัดไปแล้ว จึงอาจไม่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และ ขาดความยืดหยุ่น เป็นต้น ดังนั้น หากจะทำ ให้ทำเพียงคร่าวๆ แต่สิ่งที่ควรโฟกัส คือ การใช้เวลาในทุกนาที ให้เกิดประโยชน์สูงสุดมากกว่า
อะไรที่ทำให้เรา ใช้เวลาไม่คุ้มค่า ทุกนาที หรือเสียเวลาเป็นชั่วโมง หรือ หลายชั่วโมง ในแต่ละวัน กับการทำอะไรเรื่อยเปื่อยไม่ได้ประโยชน์ เช่น เล่น social network ไปยุ่งเรื่องชาวบ้าน, ดู youtube เรื่อยเปื่อย ดูการ์ตูน ดูหนัง เป็นต้น มากกว่าอ่านหนังสือ, หาความรู้ พัฒนาตนเอง
ปัญหานี้ จริงๆ เหมือนมีต้นตอร่วมกันอย่างหนึ่ง คือ กิเลส ซึ่งมักจะเป็นในส่วนของ ความโลภ ความโกรธ และ ความหลง ที่คอยชักนำ ให้เราใช้ชีวิตจมอยู่กับสิ่งไร้สาระ เช่น ความโลภ ทำให้อยากดูหนัง การ์ตูน เล่นเกมส์ เสพติดสิ่งบันเทิง เสียเวลาชีวิตแทบทั้งวัน, ความโกรธ ทำให้อยากเถียงกับคนทุกคนที่เห็นต่างใน social network พยายามหาข้อมูล เหตุผลมาถกเถียง จนอาจเสียเวลาชีวิตไปมาก และ ความหลง ซึ่งอาจเป็นหัวหน้าใหญ่ของกิเลสทั้งหมด ทำให้เกิดความเคยชิน ที่จะหาอะไรทำไปตามกิเลส แบบไม่รู้ตัว เพลิดเพลินไปวันๆ จนเวลาชีวิตหมด
วิธีการที่จะพัฒนาตนเอง และ ใช้เวลาทุกนาทีได้อย่างคุ้มค่าที่สุด น่าจะมีวิธีเดียวคือ การมีสติรู้ทันกิเลส ซึ่งคอยบงการเราอยู่ทุกนาที(จริงๆ อาจจะทุกวินาทีเลยด้วยนะ) รวมถึงบางทีต้องฝืนความเคยชินจากกิเลสเก่าๆ เช่น ว่างๆ ก็อยากหาหนัง-การ์ตูนดู, หาเกมส์เล่นสนุกๆ หรือ เล่น social network เพลินๆ เป็นต้น ซึ่งในช่วงแรก อาจจะทำให้ต้องฝืนใจตัวเองอย่างมาก
- ในเรื่องของการฝืนใจตัวเอง จากสิ่งที่เราชอบ ติดใจ ขาดไม่ได้ ต้องมีในทุกๆวัน ในทางวิทยาศาสตร์ เรียกว่า Dopamine Fasting ซึ่งหลักการของการเสพติดมาจาก Dopamine นี่แหละ โดยหลักของการเสพติด เกิดจากเวลาที่เราทำอะไรที่เหมือนเป็นการได้รับรางวัล จะเกิดการหลั่ง dopamine เช่น กินข้าว เล่นเกมส์ ดูหนัง เป็นต้น แต่หากได้รับสิ่งเดิมซ้ำๆ บ่อยๆ (ซึ่งง่ายมากในยุคปัจจุบัน) การหลั่งdopamine ในสมองก็จะยากขึ้น ทำให้เราต้องแสวงหาสิ่งกระตุ้นมากขึ้น เพื่อให้ได้ dopamine เท่าเดิม หรือมากขึ้น และ ก็จะยิ่งเสพติดมันมากขึ้น
- การทำ Dopamine Fasting เป็นการงดจากสิ่งที่ให้ความบันเทิงทั้งหลาย และใช้ชีวิตแบบที่คิดว่าน่าเบื่อ ไม่มีอะไรทำ เป็นการฝืนใจแบบมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้าช่วย จะทำให้เราเข้าใจตัวเองง่ายขึ้น ว่าช่วงแรกที่งดสิ่งบันเทิง ยังไงก็ต้องหงุดหงิด กระสับกระส่าย ไม่มีสมาธิ เป็นธรรมดา แต่พอผ่านพ้นไป จะพบว่า หนังสือ หรือ สิ่งเล็กๆน้อยๆในชีวิต ที่อยู่ตรงหน้า ที่เคยรู้สึกว่าน่าเบื่อ พอลองมาดูจริงๆ ก็กลับกลายเป็นรู้สึกสนุก มีความสุข อยู่กับมันขึ้นมาได้
กลับมาที่เรื่องของ กิเลส มีวิธีการสู้กับกิเลสวิธีหนึ่ง ที่ได้ผลดี คือ การมีสติรู้ทัน เพราะ กิเลสจะเกิดเมื่อเราไม่มีสติรู้ทัน หรือ เมื่อเราหลงนั่นเอง หากมีสติรู้ทัน ความคิด ทุกเวลา เท่าที่ทำได้ เราก็จะควบคุมตัวเองให้อยู่ในร่องรอย และสามารถพัฒนาตนเองให้ยิ่งๆขึ้นไปได้จริง โดยส่วนตัว คิดว่า การเจริญสติ ได้ผลในระยะยาวมากกว่า dopamine fasting เพราะ มันละเอียดไปถึงระดับ การรู้ทันความคิด รู้ทันกิเลสตัวเอง มันเปลี่ยนนิสัยได้ถึงระดับต้นตอ ซึ่งเมื่อนิสัยเปลี่ยนตั้งแต่ระดับหยาบๆ ไปจนถึงระดับที่ละเอียดปราณีตที่สุด ก็เป็นคนใหม่ที่พัฒนาขึ้นกว่าเดิมได้จริงๆอย่างมาก และ สามารถยกระดับความเข้าใจชีวิตขึ้นไปได้เรื่อยๆ จนถึงขนาดที่ว่ามุมมองชีวิตเปลี่ยนไปได้เลย(ดีขึ้น) ต่างจาก dopamine fasting ที่แม้จะงดไปสักพักใหญ่ๆ แต่พอลืมก็กลับไปหาสิ่งบันเทิงใหม่ หรือแม้จะทำมาได้นาน แต่นิสัยเดิม หรือ ความคิดก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไร ก็ไม่ได้มีอะไรพัฒนาขึ้นมากนัก
เทคนิคการนั่งสมาธิ คือ ทำตามพุทธพจน์เลย โดยจะอยู่ในพระไตรปิฎก ชื่อหัวข้อว่า "อานาปานสติสูตร" พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อม มีผลมาก มีอานิสงส์มาก ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อม บำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้ ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้ ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้ว ทำให้มาก แล้ว ย่อมบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ ฯ
[๒๘๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า เธอย่อมมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น หรือเมื่อหายใจ เข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลม ทั้งปวง หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า สำเหนียก อยู่ ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจออก ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ ปีติ หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจออก ว่าเราจัก เป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเรา จักระงับจิตสังขาร หายใจออก ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจออก ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจออก ว่าเราจักตั้งจิตมั่น
หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจออก ว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจออก ว่าเราจักเป็น ผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณา ความคลายกำหนัด หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็น ผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความ สละคืนกิเลส หายใจเข้า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว อย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ฯ
ทั้งนี้ เคยได้ยินจากครูบาอาจารย์ว่า การตีความพุทธพจน์ บางทีขึ้นอยู่กับภูมิธรรมของเราด้วย อย่างน้อยๆต้องเป็นพระอริยบุคคล จึงจะตีความได้ไม่คลาดเคลื่อน แต่ถ้าเป็นปุถุชน ยังไงก็ตีความได้ไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน และจะกลายเป็นธรรมปฏิรูป กลายเป็นตีความเข้าข้างกิเลสตนเองไป โดยส่วนตัวก็ยังไม่ได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล แต่ที่บันทึกไว้ เป็นเพียงความเข้าใจ จากการปฏิบัติโดยส่วนตัวเท่านั้น ผู้อ่านควรยึดตามคำสอนใน คัมภีร์อรรถกถาจารย์ หรือ ครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติถูกต้อง เป็นสำคัญ รวมถึงการพิสูจน์ด้วยตนเองให้เห็นประจักษ์ จึงจะเชื่อ หรือไม่เชื่อ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อม มีผลมาก มีอานิสงส์มาก ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อม บำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้ ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้ ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้ว ทำให้มาก แล้ว ย่อมบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ ฯ
บทแรก ตีความได้ว่า ถ้าทำอานาปานสติถูกต้อง ย่อมทำให้สติปัฏฐาน 4 บริบูรณ์ ดังนั้น หากทำอานาปานสติแล้ว หลง ขาดสติ ไม่รู้สึกตัว ลืมลมหายใจ ไปตลอดเวลาที่ทำ แสดงว่าทำผิดแล้ว อย่างน้อยๆ ทำแล้วต้องมีสติ สมาธิดีขึ้น พัฒนาขึ้น ทั้งขณะที่นั่งสมาธิ และ ในตอนชีวิตประจำวัน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า เธอย่อมมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า
บทนี้จะเป็นเรื่อง เกี่ยวกับการเตรียมตัว คือ
- หาสถานที่ที่เงียบสงบ
- คู้บัลลังก์ คือ นั่งขัดสมาธิ โดยส่วนตัวชอบ ขัดสมาธิเพชร เป็นการนั่งโดยเอาขามาขัดกัน แบบที่ฝ่าเท้าทั้งสองหงายขึ้น ซึ่งแรกๆอาจจะรู้สึกปวดเมื่อยชาอย่างมาก แต่หากฝึกนั่งจนชิน จะพบว่า จะทำให้ไม่เกิดอาการชาเมื่อนั่งนานๆ เลือดยังคงไหลเวียนไปยังเท้าทั้งสองได้ และท่านั่งนี้ ยังช่วยบังคับให้นั่งหลังตรงง่ายขึ้นด้วย
- แต่พอหัดนั่งไปจนเริ่มพอ ทำสมาธิได้บ้างนิดๆ จะพบว่านั่งแบบสบายๆก็ได้ ด้วยการนั่ง เท้าขวาวางทับบนเท้าซ้าย โดยไม่มีการขัดกันแค่วางทับกันเฉยๆ
- นั่งตัวตรง เพื่อให้สามารถหายใจได้สะดวกไม่ติดขัด และสามารถสังเกตการกระเพื่อมขยับของร่างกายได้อย่างสะดวก โดยให้พยายามยืดตัวขึ้น หลังไม่งอ โดยลักษณะจะประมาณว่า ข้อต่อกระดูกสันหลังทุกข้อ จรดกันสนิททั้งหมด โดยเมื่อมองจากด้านข้าง หลังโค้งเป็นรูปตัว S เล็กน้อย
- จริงๆ เพียงแค่นั่งหลังตรง ยืดตัว ก็จะเกิดสมาธิอ่อนๆ ในขั้นต้นขึ้นแล้ว และยังช่วยในเรื่องการรู้ตัวง่ายขึ้น จากนั้นก็เอาสมาธิขั้นต้นกับความรู้ตัวไปฝึกสมาธิขั้นต่อไป จากการอยู่กับลมหายใจที่เกิดเฉพาะหน้า
- ในเรื่องการรู้ตัว จากการนั่งหลังตรง จะเกิดความรู้สึกเหมือน เราเป็นผู้ดู และสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าจะปรากฎแก่เราโดยอัตโนมัติ คือ ร่างกายที่กำลังหายใจ
- จริงๆ เพียงแค่นั่งหลังตรง ยืดตัว ก็จะเกิดสมาธิอ่อนๆ ในขั้นต้นขึ้นแล้ว และยังช่วยในเรื่องการรู้ตัวง่ายขึ้น จากนั้นก็เอาสมาธิขั้นต้นกับความรู้ตัวไปฝึกสมาธิขั้นต่อไป จากการอยู่กับลมหายใจที่เกิดเฉพาะหน้า
- ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า คือ มีสติกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ก็คือ ลมหายใจเข้าออก
- มีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า คือ การปล่อยร่างกายหายใจ เราเป็นผู้ดูร่างกายหายใจไปเรื่อยๆ
- ในกรณีที่ฝึกนั่งใหม่ๆ อาจจะไม่ชินกับการดูร่างกายทำงาน อาจทำให้เกิดการ ฝืนบังคับลมหายใจ จนหายใจผิดจังหวะ และ เกิดอาการอึดอัด ลมตีกันจนหูอื้อ ปวดหัวได้ ให้เปลี่ยนมาโฟกัสกับ การนั่งหลังตรง ยืดตัว ซึ่งช่วยลดการเพ่ง บังคับ และจะทำให้เรารู้ตัว และดูร่างกายง่ายขึ้น แม้จะยังอึดอัดแน่นๆอยู่ การฝึกดูการหายใจของร่างกาย เหมือนเป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่ง ต้องค่อยเป็นค่อยไป
- บางทีอาจจะไม่สามารถฝึกให้คลายตัว เป็นผู้ดู โดยไม่บังคับลมหายใจได้ ในเร็ววัน แต่ถ้าคอยฝึกไปเรื่อยๆ เนืองๆ มันจะค่อยๆ คลายลงได้ ทั้งนี้ ถ้ายังมีอาการบังคับ ยังไม่ต้องรีบหวังผลเรื่องสมาธิใดๆ เพียงแค่นั่งหลังตรง จดจ่ออยู่กับสิ่งเฉพาะหน้า ก็เป็นการฝึกสมาธิขั้นต้นแล้ว ส่วนลมหายใจก็ค่อยๆฝึกเรียนรู้ไปเรื่อยๆ นานๆเข้ามันจะค่อยๆคลายลงเอง(โดยส่วนตัวก็ใช้เวลาหลายปีอยู่นะ กว่าจะค่อยๆคลายลง แต่ตอนนี้ก็ยังแอบมีบังคับนิดๆอยู่ แต่ก็พอจะใช้ทำสมาธิได้นานๆอยู่แหละ)
- เน้นย้ำอีกครั้งว่า ในเบื้องต้น ให้พยายามนั่งตัวตรงให้คงที่ก่อน(ซึ่งขัดสมาธิเพชรจะช่วยได้มาก) เพราะ เมื่อกายตั้งตรง ได้คงที่ หลังไม่งอ ไม่ขยับง่าย จะสามารถทำตัวเป็นผู้ดูการหายใจได้ง่ายขึ้น เพราะ จะมีแต่ส่วนท้อง และ ซี่โครงที่ขยับเวลาหายใจ ทั้งนี้การหายใจที่ถูก มักจะเป็นส่วนท้องที่มีการพอง-ยุบ ไม่ใช่หน้าอกหรือซี่โครงขยาย-หดนะ
โดยส่วนตัวกำลังฝึกวนอยู่กับ แค่สองบทแรกนี่แหละ ยังไม่มีสติปัญญาพอ ที่จะทำฝึกในบทถัดๆไป และ ยังไม่ได้ฌาณสมาธิใดๆ แต่สิ่งที่ทำได้ในตอนนี้ก็เพียงแค่ นั่งสมาธิ อยู่กับลมหายใจได้วันละ 30นาที ซึ่งช่วยให้เกิดความสุข สงบ และ ทำสิ่งต่างๆในชีวิตได้ดีขึ้นมาก เหมือนมีที่พักผ่อนส่วนตัวที่ดีมากๆ อีกอย่างหนึ่ง ที่ดีกว่า การหลงไปกับสิ่งบันเทิง ดู ฟัง เล่น ที่ไม่ได้ช่วยพัฒนาจิตเราเท่าไหร่(แต่ก็ยังมีอยู่นะ ยังไม่ได้ถึงกับ ละขาดจากสิ่งไร้สาระ)
- เคยอ่านพระไตรปิฎก ก็มีพระอรหันต์ที่บรรลุจากการฝึกเพียง ถึงแค่ 2 บทแรกเท่านั้น โดยท่านใช้ การมีสติรู้ลมหายใจในชีวิตประจำวัน คือ ประโยคสุดท้ายของบทที่ 2 "เธอย่อมมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า"
- หากลองสังเกต จะพบว่า พระพุทธพจน์ ทุกคำ มีความหมายลึกซึ้ง และ เป็นไปตามลำดับ ซึ่งหมายความว่า เราต้องฝึกจนเข้าใจไปทีละคำ ทีละลำดับขั้น หากทำขั้นถัดไปไม่ได้ ลองกลับมาฝึกขั้นก่อนหน้าให้เข้าใจและชำนาญ แล้วเราจะค่อยๆพัฒนาในขั้นถัดไปได้เอง เช่น
- หากยังรู้ลมหายใจไม่ได้ ทำแล้วอึดอัด หรือ หลงไปคิดเยอะ ก็กลับมาโฟกัสที่การมีสติเฉพาะหน้า
- หากไม่สามารถโฟกัสกับการมีสติเฉพาะหน้า หลงเยอะ ขาดสติมาก ให้กลับมาโฟกัสที่การ นั่งตัวตรง แล้วค่อยๆกลับไปโฟกัสกับลมหายใจที่อยู่เฉพาะหน้าใหม่
- เรื่องการนั่งตัวตรง คงทำได้ไม่ยากอยู่แล้ว แต่หากเผลอไปนั่งหลังงอ ก็ลองนั่งขัดสมาธิเพชร จะช่วยดัดหลังให้ตรงได้ตลอด
- หรือถ้าทำไม่ได้จริงๆ ก็เปลี่ยนสถานที่ หาสถานที่ที่สงบและคลายกังวล
- ตามความเห็นส่วนตัว การฝึกสมาธิไม่ยาก เพราะ แม้แต่คนชาติตะวันตก ที่เขาทำการทดลองนั่งสมาธิ ก็ยังได้ประโยชน์กันเยอะแยะ ซึ่งก็ไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่น่ากลัวอะไร ไม่ได้ทำให้เป็นบ้า ดูเคร่งเครียด หรือกลายเป็นคนแปลกๆ แต่ชีวิตดีขึ้นเสียอีก เรียนดีขึ้น ทำงานดีขึ้น ฯลฯ ซึ่งโดยส่วนตัว ไม่ได้หวังผลเป็นสมาธิจริงจังแบบฌาณอะไร เพียงแค่ช่วยให้ใช้ชีวิตได้ดีขึ้น ทำงานดีขึ้น ก็ดีมากแล้ว
หลังจากฝึกสมาธิมาได้สักช่วง ก็มีสมาธิอ่านหนังสือดีขึ้น การคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจอะไรก็ดีขึ้น ทำตามอารมณ์ลดลง มีวินัยมากขึ้น แต่ทั้งนี้ ก็อย่าไปหวังผลจากการนั่งสมาธิ ว่าจะต้องดีทุกวันนะ เพราะ เราควบคุมบังคับอะไรไม่ได้จริง สมาธิจะเกิดหรือไม่ เกิดจากเหตุปัจจัยของจิตทำตัวมันเอง ให้นึกเสียว่ามัน เป็นเพียงส่วนเสริมพิเศษของชีวิต ที่หากมีก็ดี ไม่มีก็ใช้ชีวิตต่อไปตามปกติ ถ้าเราอยากจะให้มันดีทุกครั้งที่นั่งสมาธิ อันนั้นเราไป ติดใจในผลลัพธ์ของสมาธิแล้ว และ คราวไหนที่นั่งสมาธิได้ไม่ดี ก็พยายามจะทำอยู่นั่นแหละ ซึ่งสุดท้ายก็บังคับอะไรไม่ได้ ซึ่งอันนี้เรียกว่า การติดสมาธิ ซึ่งเกิดจากความไม่เข้าใจ ว่าเราควบคุมบังคับอะไรไม่ได้หรอก