เทคนิคการนั่งสมาธิ คือ ทำตามพุทธพจน์เลย โดยจะอยู่ในพระไตรปิฎก ชื่อหัวข้อว่า "อานาปานสติสูตร" พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อม มีผลมาก มีอานิสงส์มาก ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อม บำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้ ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้ ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้ว ทำให้มาก แล้ว ย่อมบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ ฯ
[๒๘๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า เธอย่อมมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น หรือเมื่อหายใจ เข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลม ทั้งปวง หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า สำเหนียก อยู่ ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจออก ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ ปีติ หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจออก ว่าเราจัก เป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเรา จักระงับจิตสังขาร หายใจออก ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจออก ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจออก ว่าเราจักตั้งจิตมั่น
หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจออก ว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจออก ว่าเราจักเป็น ผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณา ความคลายกำหนัด หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็น ผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความ สละคืนกิเลส หายใจเข้า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว อย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ฯ
ทั้งนี้ เคยได้ยินจากครูบาอาจารย์ว่า การตีความพุทธพจน์ บางทีขึ้นอยู่กับภูมิธรรมของเราด้วย อย่างน้อยๆต้องเป็นพระอริยบุคคล จึงจะตีความได้ไม่คลาดเคลื่อน แต่ถ้าเป็นปุถุชน ยังไงก็ตีความได้ไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน และจะกลายเป็นธรรมปฏิรูป กลายเป็นตีความเข้าข้างกิเลสตนเองไป โดยส่วนตัวก็ยังไม่ได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล แต่ที่บันทึกไว้ เป็นเพียงความเข้าใจ จากการปฏิบัติโดยส่วนตัวเท่านั้น ผู้อ่านควรยึดตามคำสอนใน คัมภีร์อรรถกถาจารย์ หรือ ครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติถูกต้อง เป็นสำคัญ รวมถึงการพิสูจน์ด้วยตนเองให้เห็นประจักษ์ จึงจะเชื่อ หรือไม่เชื่อ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อม มีผลมาก มีอานิสงส์มาก ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อม บำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้ ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้ ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้ว ทำให้มาก แล้ว ย่อมบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ ฯ
บทแรก ตีความได้ว่า ถ้าทำอานาปานสติถูกต้อง ย่อมทำให้สติปัฏฐาน 4 บริบูรณ์ ดังนั้น หากทำอานาปานสติแล้ว หลง ขาดสติ ไม่รู้สึกตัว ลืมลมหายใจ ไปตลอดเวลาที่ทำ แสดงว่าทำผิดแล้ว อย่างน้อยๆ ทำแล้วต้องมีสติ สมาธิดีขึ้น พัฒนาขึ้น ทั้งขณะที่นั่งสมาธิ และ ในตอนชีวิตประจำวัน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า เธอย่อมมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า
บทนี้จะเป็นเรื่อง เกี่ยวกับการเตรียมตัว คือ
- หาสถานที่ที่เงียบสงบ
- คู้บัลลังก์ คือ นั่งขัดสมาธิ โดยส่วนตัวชอบ ขัดสมาธิเพชร เป็นการนั่งโดยเอาขามาขัดกัน แบบที่ฝ่าเท้าทั้งสองหงายขึ้น ซึ่งแรกๆอาจจะรู้สึกปวดเมื่อยชาอย่างมาก แต่หากฝึกนั่งจนชิน จะพบว่า จะทำให้ไม่เกิดอาการชาเมื่อนั่งนานๆ เลือดยังคงไหลเวียนไปยังเท้าทั้งสองได้ และท่านั่งนี้ ยังช่วยบังคับให้นั่งหลังตรงง่ายขึ้นด้วย
- แต่พอหัดนั่งไปจนเริ่มพอ ทำสมาธิได้บ้างนิดๆ จะพบว่านั่งแบบสบายๆก็ได้ ด้วยการนั่ง เท้าขวาวางทับบนเท้าซ้าย โดยไม่มีการขัดกันแค่วางทับกันเฉยๆ
- นั่งตัวตรง เพื่อให้สามารถหายใจได้สะดวกไม่ติดขัด และสามารถสังเกตการกระเพื่อมขยับของร่างกายได้อย่างสะดวก โดยให้พยายามยืดตัวขึ้น หลังไม่งอ โดยลักษณะจะประมาณว่า ข้อต่อกระดูกสันหลังทุกข้อ จรดกันสนิททั้งหมด โดยเมื่อมองจากด้านข้าง หลังโค้งเป็นรูปตัว S เล็กน้อย
- จริงๆ เพียงแค่นั่งหลังตรง ยืดตัว ก็จะเกิดสมาธิอ่อนๆ ในขั้นต้นขึ้นแล้ว และยังช่วยในเรื่องการรู้ตัวง่ายขึ้น จากนั้นก็เอาสมาธิขั้นต้นกับความรู้ตัวไปฝึกสมาธิขั้นต่อไป จากการอยู่กับลมหายใจที่เกิดเฉพาะหน้า
- ในเรื่องการรู้ตัว จากการนั่งหลังตรง จะเกิดความรู้สึกเหมือน เราเป็นผู้ดู และสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าจะปรากฎแก่เราโดยอัตโนมัติ คือ ร่างกายที่กำลังหายใจ
- จริงๆ เพียงแค่นั่งหลังตรง ยืดตัว ก็จะเกิดสมาธิอ่อนๆ ในขั้นต้นขึ้นแล้ว และยังช่วยในเรื่องการรู้ตัวง่ายขึ้น จากนั้นก็เอาสมาธิขั้นต้นกับความรู้ตัวไปฝึกสมาธิขั้นต่อไป จากการอยู่กับลมหายใจที่เกิดเฉพาะหน้า
- ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า คือ มีสติกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ก็คือ ลมหายใจเข้าออก
- มีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า คือ การปล่อยร่างกายหายใจ เราเป็นผู้ดูร่างกายหายใจไปเรื่อยๆ
- ในกรณีที่ฝึกนั่งใหม่ๆ อาจจะไม่ชินกับการดูร่างกายทำงาน อาจทำให้เกิดการ ฝืนบังคับลมหายใจ จนหายใจผิดจังหวะ และ เกิดอาการอึดอัด ลมตีกันจนหูอื้อ ปวดหัวได้ ให้เปลี่ยนมาโฟกัสกับ การนั่งหลังตรง ยืดตัว ซึ่งช่วยลดการเพ่ง บังคับ และจะทำให้เรารู้ตัว และดูร่างกายง่ายขึ้น แม้จะยังอึดอัดแน่นๆอยู่ การฝึกดูการหายใจของร่างกาย เหมือนเป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่ง ต้องค่อยเป็นค่อยไป
- บางทีอาจจะไม่สามารถฝึกให้คลายตัว เป็นผู้ดู โดยไม่บังคับลมหายใจได้ ในเร็ววัน แต่ถ้าคอยฝึกไปเรื่อยๆ เนืองๆ มันจะค่อยๆ คลายลงได้ ทั้งนี้ ถ้ายังมีอาการบังคับ ยังไม่ต้องรีบหวังผลเรื่องสมาธิใดๆ เพียงแค่นั่งหลังตรง จดจ่ออยู่กับสิ่งเฉพาะหน้า ก็เป็นการฝึกสมาธิขั้นต้นแล้ว ส่วนลมหายใจก็ค่อยๆฝึกเรียนรู้ไปเรื่อยๆ นานๆเข้ามันจะค่อยๆคลายลงเอง(โดยส่วนตัวก็ใช้เวลาหลายปีอยู่นะ กว่าจะค่อยๆคลายลง แต่ตอนนี้ก็ยังแอบมีบังคับนิดๆอยู่ แต่ก็พอจะใช้ทำสมาธิได้นานๆอยู่แหละ)
- เน้นย้ำอีกครั้งว่า ในเบื้องต้น ให้พยายามนั่งตัวตรงให้คงที่ก่อน(ซึ่งขัดสมาธิเพชรจะช่วยได้มาก) เพราะ เมื่อกายตั้งตรง ได้คงที่ หลังไม่งอ ไม่ขยับง่าย จะสามารถทำตัวเป็นผู้ดูการหายใจได้ง่ายขึ้น เพราะ จะมีแต่ส่วนท้อง และ ซี่โครงที่ขยับเวลาหายใจ ทั้งนี้การหายใจที่ถูก มักจะเป็นส่วนท้องที่มีการพอง-ยุบ ไม่ใช่หน้าอกหรือซี่โครงขยาย-หดนะ
โดยส่วนตัวกำลังฝึกวนอยู่กับ แค่สองบทแรกนี่แหละ ยังไม่มีสติปัญญาพอ ที่จะทำฝึกในบทถัดๆไป และ ยังไม่ได้ฌาณสมาธิใดๆ แต่สิ่งที่ทำได้ในตอนนี้ก็เพียงแค่ นั่งสมาธิ อยู่กับลมหายใจได้วันละ 30นาที ซึ่งช่วยให้เกิดความสุข สงบ และ ทำสิ่งต่างๆในชีวิตได้ดีขึ้นมาก เหมือนมีที่พักผ่อนส่วนตัวที่ดีมากๆ อีกอย่างหนึ่ง ที่ดีกว่า การหลงไปกับสิ่งบันเทิง ดู ฟัง เล่น ที่ไม่ได้ช่วยพัฒนาจิตเราเท่าไหร่(แต่ก็ยังมีอยู่นะ ยังไม่ได้ถึงกับ ละขาดจากสิ่งไร้สาระ)
- เคยอ่านพระไตรปิฎก ก็มีพระอรหันต์ที่บรรลุจากการฝึกเพียง ถึงแค่ 2 บทแรกเท่านั้น โดยท่านใช้ การมีสติรู้ลมหายใจในชีวิตประจำวัน คือ ประโยคสุดท้ายของบทที่ 2 "เธอย่อมมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า"
- หากลองสังเกต จะพบว่า พระพุทธพจน์ ทุกคำ มีความหมายลึกซึ้ง และ เป็นไปตามลำดับ ซึ่งหมายความว่า เราต้องฝึกจนเข้าใจไปทีละคำ ทีละลำดับขั้น หากทำขั้นถัดไปไม่ได้ ลองกลับมาฝึกขั้นก่อนหน้าให้เข้าใจและชำนาญ แล้วเราจะค่อยๆพัฒนาในขั้นถัดไปได้เอง เช่น
- หากยังรู้ลมหายใจไม่ได้ ทำแล้วอึดอัด หรือ หลงไปคิดเยอะ ก็กลับมาโฟกัสที่การมีสติเฉพาะหน้า
- หากไม่สามารถโฟกัสกับการมีสติเฉพาะหน้า หลงเยอะ ขาดสติมาก ให้กลับมาโฟกัสที่การ นั่งตัวตรง แล้วค่อยๆกลับไปโฟกัสกับลมหายใจที่อยู่เฉพาะหน้าใหม่
- เรื่องการนั่งตัวตรง คงทำได้ไม่ยากอยู่แล้ว แต่หากเผลอไปนั่งหลังงอ ก็ลองนั่งขัดสมาธิเพชร จะช่วยดัดหลังให้ตรงได้ตลอด
- หรือถ้าทำไม่ได้จริงๆ ก็เปลี่ยนสถานที่ หาสถานที่ที่สงบและคลายกังวล
- ตามความเห็นส่วนตัว การฝึกสมาธิไม่ยาก เพราะ แม้แต่คนชาติตะวันตก ที่เขาทำการทดลองนั่งสมาธิ ก็ยังได้ประโยชน์กันเยอะแยะ ซึ่งก็ไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่น่ากลัวอะไร ไม่ได้ทำให้เป็นบ้า ดูเคร่งเครียด หรือกลายเป็นคนแปลกๆ แต่ชีวิตดีขึ้นเสียอีก เรียนดีขึ้น ทำงานดีขึ้น ฯลฯ ซึ่งโดยส่วนตัว ไม่ได้หวังผลเป็นสมาธิจริงจังแบบฌาณอะไร เพียงแค่ช่วยให้ใช้ชีวิตได้ดีขึ้น ทำงานดีขึ้น ก็ดีมากแล้ว
หลังจากฝึกสมาธิมาได้สักช่วง ก็มีสมาธิอ่านหนังสือดีขึ้น การคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจอะไรก็ดีขึ้น ทำตามอารมณ์ลดลง มีวินัยมากขึ้น แต่ทั้งนี้ ก็อย่าไปหวังผลจากการนั่งสมาธิ ว่าจะต้องดีทุกวันนะ เพราะ เราควบคุมบังคับอะไรไม่ได้จริง สมาธิจะเกิดหรือไม่ เกิดจากเหตุปัจจัยของจิตทำตัวมันเอง ให้นึกเสียว่ามัน เป็นเพียงส่วนเสริมพิเศษของชีวิต ที่หากมีก็ดี ไม่มีก็ใช้ชีวิตต่อไปตามปกติ ถ้าเราอยากจะให้มันดีทุกครั้งที่นั่งสมาธิ อันนั้นเราไป ติดใจในผลลัพธ์ของสมาธิแล้ว และ คราวไหนที่นั่งสมาธิได้ไม่ดี ก็พยายามจะทำอยู่นั่นแหละ ซึ่งสุดท้ายก็บังคับอะไรไม่ได้ ซึ่งอันนี้เรียกว่า การติดสมาธิ ซึ่งเกิดจากความไม่เข้าใจ ว่าเราควบคุมบังคับอะไรไม่ได้หรอก
Comments