Skip to main content

ความเคยชินที่ทำทุกวันเป็นตัวกำหนดอนาคต และวิธีเปลี่ยนความเคยชินที่ไม่ดี

Submitted by krishrong on

เป้าหมายไม่ได้เป็นตัวกำหนดอนาคตของเรา แต่คือความเคยชิน หรือ สิ่งที่เราทำอยู่ในทุกๆวัน เป็นประจำต่างหาก ที่จะกำหนดอนาคตของเรา ต่อให้เรากำหนดเป้าหมายไว้อย่างสวยงาม มีไอเดียดีๆเกิดขึ้นมากมาย แต่ถ้าในแต่ละวัน เราก็ยังคงชอบเอาเวลาไปทำในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ก็ยากที่เราจะทำตามเป้าหมาย หรือ ไอเดียดีๆที่เกิดขึ้นได้สำเร็จ

สิ่งไม่เป็นประโยชน์ในชีวิต โดยส่วนใหญ่จะเป็น สิ่งที่ก่อให้เกิด ความเพลิดเพลิน ความสนุกสนาน ความบันเทิงต่างๆ ซึ่งทำให้เราเกิดความติดใจ สิ่งที่ทำให้เราติดใจ มีส่วนอย่างมากในการกำหนดพฤติกรรมของเรา เพราะ ทำให้เรารู้สึกอยากจะทำสิ่งเหล่านี้ตลอดเวลา จนเกิดเป็นความเคยชินที่จะทำสิ่งไม่มีประโยชน์ในเวลาว่าง แทนที่จะเอาเวลาว่างอันน้อยนิดในแต่ละวัน มาคอยสะสม ในการทำสิ่งที่มีประโยชน์กับตัวเอง เพื่อทำตามความฝัน หรือ เป้าหมายของเรา

วิธีเปลี่ยนความเคยชิน จะมี 2 ส่วนคือ

  1. เลิกนิสัยเก่า

    โดยส่วนตัว วิธีที่ทำแล้วได้ผลคือ การถือศีล 8 ไปเรื่อยๆ ซึ่งถ้าดูๆดีๆ ข้อกำหนดต่างๆในศีล8 ก็คือ การทำ Dopamine Fasting ร่วมกับ Intermittent Fasting นั่นแหละ ส่วนบุญที่ได้รับก็คือ ชีวิตที่เปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น อย่างที่เห็นผลได้ในปัจจุบัน จากผลของการกระทำของเราเอง

    โดยข้อกำหนดของ ศีล8 ที่เพิ่มขึ้นจาก ศีล5 จะเป็นเรื่องของ การฝึกลดละสิ่งที่ทำให้ติดใจต่างๆ ได้แก่ ในเรื่องทางเพศ, การกินอาหาร, การเพลิดเพลินกับสิ่งบันเทิง ทั้งการดู ฟัง เล่น, การตกแต่งร่างกาย, การติดใจในสิ่งของหรูหรา ซึ่งรายละเอียดสามารถหาได้ไม่ยากใน google

    ในการเริ่มรักษาศีล8 ช่วงแรกๆ จะเกิดความรู้สึกฝืนใจอย่างมาก ความอยากในสิ่งที่เราติดใจ จะยังเกิดขึ้นบ่อยๆ(คล้ายๆกับการจะเลิกสิ่งเสพติด เป็นกลไกเดียวกันกับ dopamine fasting) และ อาจจะยังถูกชักนำให้ละเมิดผิดศีลได้อยู่ แต่ให้พยายามตั้งใจใหม่ในทุกๆวัน

    แต่พอรักษาศีล8 ไปสักระยะหนึ่ง(โดยส่วนตัวไม่เกิน 3-4 วัน) ความรู้สึกอยากทำ ในสิ่งที่ทำให้เราติดใจ จะมีกำลังลดลงไปเอง และ จะเริ่มเห็นอีกมุมมองหนึ่ง คือ เริ่มเห็นถึงความไม่มีสาระประโยชนของสิ่งที่เราเคยไปติดใจ และเริ่มเบื่อ, รำคาญ กับเวลาที่เสียไปโดยเปล่าประโยชน์แทน ก็ให้ทำต่อไปอีกเรื่อยๆ จนเป็นความเคยชินกับความรู้สึกนี้ และ กลายเป็นรูปแบบชีวิตที่เรียบง่าย ธรรมดาๆของเรา

    ทั้งนี้ การรักษาศีล 8 อาจทำเป็นช่วงๆ หรือ อย่างน้อย วันเว้นวัน หรือ เดือนละครึ่งหนึ่ง ไม่ได้รักษาศีล8 ตลอดทุกวันในชีวิต เพราะ เรายังมีกิเลสอยู่ จะพักบ้างก็ได้ โดยอาจเพิ่มขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการในการพัฒนาตนเองของแต่ละคน การรักษาศีลแบบเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง จะทำเพื่อปรับจูนสมองเป็นช่วงๆ ให้ลดการเสพติดสิ่งที่ทำให้เราติดใจ และกลับเข้ามาสู่ภาวะสมดุล แต่ทั้งนี้จริงๆ ในพระไตรปิฎก จะแนะนำให้ อย่างน้อย รักษาศีล8 เพียงสัปดาห์ละครั้ง นะ (เราเอามาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาตนเอง)

  2. สร้างนิสัยใหม่

    พอเริ่มลดความอยากในสิ่งที่เราติดใจลงได้แล้ว ก็ให้ค่อยๆเริ่มเอาเวลาว่าง มาทำกิจกรรมที่มีสาระประโยชน์กับชีวิตมากขึ้น เช่น มาทำงานอดิเรก อ่านหนังสือ หาความรู้เพิ่มเติม หรือ พัฒนาตนเอง เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่เราวางไว้ต่อไป แรกๆจะยังไม่ชิน และรู้สึกฝืน ให้ค่อยๆเพิ่มกิจกรรม ไปทีละนิด ทีละหน่อย เท่าที่พอไหว จนสุดท้ายจะกลายเป็นความเคยชินใหม่เอง เราสามารถปรับความเคยชินให้ละเอียดได้ถึงระดับที่ว่า เวลากินข้าวก็เคยชินที่จะหยิบหนังสือเล่มเล็กๆขึ้นมาอ่าน แทนที่จะเอามือถือขึ้นมาเลื่อนดู Social

ตัวอย่างของตัวเอง คือ แต่ก่อนจะติดการ์ตูน จนควบคุมตัวเองไม่ค่อยได้ พอถือศีล 8 ไปเรื่อยๆ ก็เริ่มสังเกตเห็นความเหลวไหล จำนวนมากของตัวเอง ที่ว่าอ่านหนังสือ ก็ยังแอบไปดูการ์ตูนบ่อยๆ และเสียเวลาไปเยอะ พอถือศีลไปสักพัก ก็ค่อยๆรู้ทันความอยากได้ และ ลดละจนน้อยลงๆ แม้จริงๆจะรักษาศีล8 มากว่า 1 สัปดาห์ แต่ความอยากดูก็ยังมีอยู่ ไม่ได้หายขาดนะ แต่มันก็เบาบางลง และ เราควบคุมตัวเองได้มากขึ้น จากนั้นก็ค่อยๆเพิ่มเวลาการอ่าน เพิ่มวิชาที่อ่านไปทีละนิดๆ เพิ่มงานอดิเรกที่มีสาระประโยชน์ เท่าที่ตัวเองจะไหว และกลายเป็นความเคยชินใหม่ และหากทำไปนานๆ ก็จะกลายเป็นนิสัย ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว

Add new comment

The content of this field is kept private and will not be shown publicly.

Plain text

  • No HTML tags allowed.
  • Lines and paragraphs break automatically.
  • Web page addresses and email addresses turn into links automatically.