ตกผลึกการเทรด

การลงทุน และ การเทรด ให้ศึกษาตำราให้จบ และครบถ้วนเสียก่อน จึงจะเข้าทดลองในความเป็นจริง ไม่มีความจำเป็นต้องรีบ หรือ ต้องรู้สึกว่า โอกาสมีแค่ตอนนี้ เวลานี้เท่านั้น ตราบใดที่โลกยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ มีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆเกิดขึ้นเสมอๆ ก็ยังมีโอกาสสำหรับการลงทุน เกิดขึ้นอยู่ตลอดๆ(แต่ถ้าเรายังศึกษาไม่ครบถ้วน จะมีความเสี่ยงจากการทำไม่ถูกหลักการ และจะเสียเงินไปอย่างสูญเปล่า)

อ่านตำราที่เขียนโดยบุคคลระดับปรมาจารย์เท่านั้น เพราะเป็นความรู้และประสบการณ์ที่ตกผลึกมาอย่างดีที่สุด ถ้าเป็นนักเทรดทั่วไป อาจตกผลึกได้เพียงบางมุม หรือยังไม่เข้าใจลึกซึ้งเท่า(ซึ่งก็อ่านได้ แต่เราอาจนำไปใช้ได้แค่ 10% เพราะวิธีส่วนใหญ่อาจจะไม่เหมาะกับเราทั้งหมด)

ตำราที่เคยอ่าน (แล้วพบว่าดี)

  • Technical analysis of the financial market ของ John Murphy – pure technical ได้แง่มุมการเทรดด้าน Technical ที่ดี แม้จะเก่าก็ตาม
  • The Art of currency trading – ของ Brent Donnelly เป็นตำราที่นำ Technical ผสมกับ Fundamental มาประยุกต์ใช้ร่วมกัน
  • Financial markets and institutions ของ Frederic Mishkin – เป็นตำรา Fundamental ล้วน แต่อ่านพอเข้าใจได้ สำหรับคนที่ไม่ได้เรียนการเงิน

การลงทุน = ระยะยาว

การลงทุน จะเน้นลงทุนใน นวัตกรรม หรือ บริษัทที่มีสินค้าหรือบริการ ที่มีคุณภาพ ที่เราเกิดความประทับใจ หรือ ตื่นเต้นกับสิ่งที่เขาทำ แต่ถูกนักลงทุนในตลาด ประเมินค่าต่ำกว่าความเป็นจริง(small market cap) ไม่ว่าจะเป็น เพราะ นักลงทุนยังไม่เข้าใจนวัตกรรมใหม่นั้นๆ หรือ มีข่าวไม่ดี-ข่าวร้าย โจมตีบริษัท ออกมา(ทั้งๆที่บริษัทยังคงสร้างนวัตกรรมที่ดีมากๆอยู่)

  • ข้อดี ของหุ้นหรือนวัตกรรมใดๆ ที่ยังมี Small market cap คือ จะมีโอกาสที่ ราคาจะพุ่งทะยานหลายสิบถึงหลายร้อยเท่า เพียงแค่มีเงินทุนจำนวนหนึ่งไหลเข้ามา แม้จะยังไม่เท่าเศษเสี้ยวของ Big market cap -> Small market cap = ขึ้นง่าย ลงยาก
  • ข้อเสียของ หุ้น Big market cap ของแต่ประเทศ คือ ต่อให้ยังเป็นบริษัทที่ดีอยู่ การขึ้น ก็เพิ่มขึ้นไม่มาก เพราะการจะผลักดันราคา ต้องมีเงินมหาศาลไหลเข้าอีกเท่าตัว(จะไปหาเงินขนาดนั้นจากไหน ถ้าทั้งโลกก็มีกันแค่นี้แหละ? นอกเสียจากเงินเฟ้อ แต่จะช้า) ราคาจึงมักจะอยู่แบบคงที่ และถ้าเกิดมีข่าวร้ายขึ้นมาเมื่อไหร่ จะมีโอกาสลงได้ไกล เพราะ เงินทุนสามารถไหลออกได้มหาศาลเช่นกัน ->Big market cap = ขึ้นยาก ลงง่าย

แนะนำให้อ่านข่าว Reuters, Bloomberg หมวด Market อย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามความเป็นไปของเศรษฐกิจ แต่อย่าเชื่อข่าวความผันผวนระยะสั้นมากนัก หากเรายังคงเชื่อใน มูลค่าบริษัทที่มีคุณภาพ หรือ มูลค่าของนวัตกรรมนั้นๆ เพราะ ในระยะสั้น มักจะมีข่าวพลิกล็อคออกมาได้เสมอๆ ปัจจัยระยะสั้น ในโลกความเป็นจริงนั้น มีมากมาย จนแทบจะเกินความพยายามในการคาดเดาหรือสืบหาข้อมูลของคนๆหนึ่ง แต่ที่เราพอรู้คือ ของที่ดี มีประโยชน์จริงๆ จะอย่างไร มูลค่าในอนาคตก็ต้องเติบโตขึ้นในระยะยาว

  • Rumor VS Fact มีอีกกรณีหนึ่งคือ ข่าวต่างๆ ที่ยังเป็นเพียงข่าวลือ(Rumor) ไม่ใช่ข้อเท็จจริง(Fact) แต่ตลาดกังวลกันล่วงหน้า แล้วราคาเกิดการผันผวนร่วงลงอย่างมาก จะเป็นโอกาสในการซื้อสวนตลาด(Buy the rumor) ที่จะได้ราคาดีมาก และ ความเสี่ยงต่ำ เพราะ หากข้อเท็จจริง ที่ออกมาภายหลัง เป็นตามข่าวลือ ก็ cut loss ได้โดยไม่ได้ขาดทุนเยอะ แต่หากข้อเท็จจริง ไม่เป็นไปตามข่าวลือ ราคาจะดีดกลับและอาจพุ่งทะยานเป็น Trend รอบใหม่ได้เลย(กำไรที่มากับความเสี่ยงต่ำ)

กลยุทธ์การซื้อ คือ ให้ทยอยเข้าซื้อแบบ DCAถี่ๆ เพื่อลดความเสี่ยงการ Draw down จากความผันผวนระยะสั้น โดยหวังการเพิ่มมูลค่าของหุ้น เมื่อผ่านแต่ละ รอบเศรษฐกิจ หรือ รอบธุรกิจ

  • รอบเศรษฐกิจ(Economic cycle) มักจะตามนโยบายการเงิน ของธนาคารกลาง เช่น นโยบายการเพิ่ม-ลด ดอกเบี้ยการกู้ยืมเงิน ซึ่งส่งผลต่อการขยายตัวของธุรกิจต่างๆ ในวงกว้าง เป็นต้น
  • รอบธุรกิจ(Business cycle) มักจะเป็นรอบการประกาศผลกำไรของบริษัท ในแต่ละไตรมาส เป็นเครื่องพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า นวัตกรรมของบริษัทนั้นๆ เกิดประโยชน์จริงหรือไม่

การแบ่งสัดส่วนเงินลงทุนDCA ในแต่ละสินทรัพย์ จะขึ้นอยู่กับระยะ Down side ที่เป็นไปได้ โดยดูกราฟ technical ใน TF Week/Month เท่านั้น

  • ถ้าสินทรัพย์ ราคาถูกมาก (down side น้อย) จะใส่เงินลงทุนสูงสุด 20-30%
  • ถ้าสินทรัพย์ราคาถูกกลางๆ จะใส่เงินลงทุน 10%
  • ถ้าสินทรัพย์ราคาสูงแล้ว(แต่เป็นบริษัทที่ดี สร้างนวัตกรรม) จะใส่เงินลงทุน 5%

โดย การลงทุนทุกครั้ง ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงขาดทุนสูงสุดที่ยอมรับได้เสมอ ซึ่งมักจะอยู่ที่ไม่เกิน 10% ของการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ และเงินที่ใช้ลงทุนทั้งหมดจะไม่เกิน 50% ของเงินเก็บที่มี(หลังหักค่าใช้จ่าย ของกิน ของใช้ ทุกอย่างแล้ว) รวมทั้ง สินทรัพย์ในหมวดเดียวกัน ไม่ควรเกิน 30% ของพอร์ตการลงทุน การคุมความเสี่ยงเป็นสิ่งสำคัญมาก มันคงจะไม่เหมาะสม ถ้ามีเงินน้อยแต่หวังกำไรมหาศาลเกินเงินทุนที่มี! นำมาสู่การ over-risking และ ปล่อยให้เกิดการขาดทุนสะสม(drawdown)เกิน 10% “เราคนเดียว ไม่สามารถคาดการณ์ปัจจัยได้ทุกอย่าง จึงต้องคิดเผื่อการขาดทุน เวลาที่ผลลัพธ์ มันอาจจะออกมาผิดคาดเสมอๆ“(การลงทุน มีถูก มีผิด)

สำหรับการเก็บกำไรในการลงทุน หากยังกำไรอยู่ ไม่ขาดทุนเกินความเสี่ยงที่รับไหว จะเน้นถือไปในระยะยาว ไม่ถอนเงินคืนโดยมีแนวคิดว่า บริษัทที่ดี เมื่อระยะเวลาผ่านไปยิ่งนานเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้น แต่จะขายออก หาก ปัจจัยพื้นฐานของสินทรัพย์นั้น ต่างไปจากที่เราคิดไว้ หรือ ขาดทุน เกิน10%ที่รับไหว

การลงทุน ควรหวังผลกำไรหลายๆเท่า หรือหลายสิบ-ร้อยเท่า ถ้าหวังเพียงกำไร 10-20% จะเป็นอะไรที่ไม่คุ้มกับความเสี่ยงอย่างมาก(เพราะ สามารถขาดทุนได้ 10-20% เช่นกัน = Reward:risk ratio 1:1) ถ้าแบบนั้น การเทรดจะเหมาะกว่า เพราะ มี leverage ทำให้ใช้ ทุนน้อย กำไรมาก(RRR>1) หรือ กระทั่ง ทำงานประจำ ทำธุรกิจ ยังเหมาะกว่าลงทุน เพื่อหวังกำไรแค่ 10-20% แต่ต้องแบกความเสี่ยงขาดทุนพอๆกัน

สรุป การลงทุน ให้หาหุ้นบริษัทที่ดี ที่มี small market cap, หรือ ราคาถูกจากข่าวลือไม่ดี(Bad rumor) เพราะ ความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนสูงมาก และ ที่สำคัญ คือ คำนวณความเสี่ยงการขาดทุนที่รับได้เสมอ ในการลงทุนแต่ละครั้ง และ ถือยาวๆ ไปตลอด ตราบเท่าที่ปัจจัยพื้นฐาน ยังไม่ผิดไปจากที่คาดไว้ จะไม่ขายออก

การเทรด = ระยะสั้น

การเทรดแต่ละครั้ง เปรียบได้กับการ Probe เพื่อหยั่งความลึกของตลาด(Probe the market) เหมือนหยั่งความลึกของลำธาร ที่ไม่มีใครรู้หรือคาดการณ์ได้หรอกว่า จะตื้น หรือ ลึกเท่าไหร่ เพราะ แม้แต่นักเทรดระดับตำนาน ก็ยังถูกต้องเพียง 50% ไม่ต่างจากการเดาสุ่ม

ดังนั้น ในความเป็นจริง การเทรดจึง ไม่ได้ทำกำไรจากความสามารถในการทำนายตลาดแต่อย่างใด แต่เกิดจากความสามารถในการหาจุดเข้าเทรดที่ดี (ที่อาศัยความรู้และประสบการณ์ด้าน Technical analysis) ซึ่ง ณ จุดเข้าเทรดที่ดี จะเป็นจุดที่มีแต้มต่อ(Reward : risk ratio) กำไรมากกว่าขาดทุน เช่น ถ้าผิดจะเสีย 1 ส่วน แต่ถ้าถูก จะได้ 3 ส่วน เป็นต้น เมื่อสะสมในระยะยาวด้วยพลังของแต้มต่อและความน่าจะเป็น ก็ทำให้ค่อยๆสะสมกำไรได้มากกว่าขาดทุน

ตราบใดที่ ระบบเทรด ไม่สามารถให้ win rate เกิน 50%(ถูกบ้าง ผิดบ้าง) การเทรดแต่ละครั้ง ก็ไม่ต่างจากการ“เสี่ยงทาย” ยังคงเรียกว่า เป็นการทดลอง probe ในจุดที่มีแต้มต่อดี ถ้าเราเข้าใจแบบนี้ ก็คงรู้ว่าไม่มีประโยชน์ หากจะเอาความรู้สึกไปลุ้น หรือเอาทุนไปทุ่มกับการลอง Probe แค่ไม่กี่ครั้ง

ต่อไปจะเป็นกลยุทธ์ Technical(เพียงหลักการพื้นฐานจำนวนหนึ่งเท่านั้น)

  • โดยหลักการดูกราฟจะเริ่มจาก Time frame ใหญ่สุดไปหาเล็กเสมอ
    • โดย Time frame ที่ใช้ประเมินทิศทางในการเทรดเป็นหลักคือ Day(short/present term), Week(long term), Month(ในบางครั้ง)
    • ตีเส้น Trend lines, Support and resistance zones ใน TF Day, Week
  • ส่วน Intraday TF จะใช้เป็นเครื่องมือในการหาจุดเข้าเทรดที่เหมาะสม เพื่อให้ใช้ Leverage ได้มากขึ้น และ ได้ RRR มากขึ้น โดยส่วนตัวใช้ที่ 5 min สำหรับทองคำ
  • กลยุทธ์การเข้าเทรด คือ เทรดตาม Intermediate trend และ ไม่สวนเทรนด์ โดย การเทรด 1 ครั้ง จะแบ่งเข้าเทรด 3 ระยะ ในทุกระยะที่แบ่งเข้า จะใช้ความเสี่ยง 0.1% (x 3 = ไม่เกิน 0.3% ต่อการเทรด 1 ครั้ง) แต่ทั้งนี้อาจไม่ได้ครบทั้งสามระยะ มักจะได้ 2 ใน 3
    1. เข้าก่อนไปเลย(Trade the anticipation) เพื่อกันพลาดโอกาส ที่จะมาถึง, Stop loss จะกว้าง เพราะ ไม่ได้เป็นจุดเข้าที่ดีที่สุด
    2. เข้าหลังจากราคาทะลุกรอบแล้ว(Trade the Breakout) เมื่อราคาทะลุ Trendline หรือ SnR zone มีโอกาสที่จะได้ stop loss แคบ และ ใช้ Leverage มากขึ้นได้
    3. เข้าหลังจากราคากลับมาทดสอบแนวสำคัญ(Trade the rebound) เมื่อราคามาทดสอบเส้น Trendline, SnR zone โดยที่ไม่ทะลุ หรือ ทะลุแต่ราคาปิดกลับเข้ามาในแนว จะเป็นจุดเข้าที่ได้ราคาที่ดี
  • Stop loss จะวางไว้ ใต้ zone ที่สำคัญ
  • Take profit(เก็บกำไร) พยายามถือการเทรดที่ชนะไว้ยาวๆ ให้ได้ RRR อย่างน้อย 3:1(กรณีทองคำ ที่ TF 5min บางทีจะได้ RRR >5-30:1)
    • ตอน Run trend มี Trailing stop เพื่อรักษากำไร ไว้ด้วยเสมอ ถ้าถูก Stop out ก็เข้าใหม่ได้เสมอๆ
  • พึงระลึกไว้เสมอว่า ในแต่ละการเทรดครั้งหนึ่งๆ ก็เป็นเพียงการทดลองเสี่ยงทาย Probe เพื่อหยั่งความลึกตลาด ในจุดที่แต้มต่อดี มีถูก มีผิด มันจะเป็นอะไรที่ไม่สมเหตุสมผล หากเราจะเอาเงินทั้งหมด ไปทุ่มกับการ Probe เพียงไม่กี่ครั้ง หรือ เอาจิตใจไปลุ้นกับการ Probe ที่มันก็เป็นเพียงการลองเดาเพื่อหยึ่งความลึกในครั้งหนึ่งๆ ที่จริงๆแล้วอยู่รอดและสะสมกำไรได้ เพราะหลักความน่าจะเป็น, แต้มต่อจากจุดเข้าที่ดี และ การคุมความเสี่ยงตามระบบ(ไม่ใช่ความสามารถในการทำนายตลาดของผู้เทรดแต่อย่างใด)
  • จำกัดการขาดทุนในแต่ละวันอยู่ที่ 1% ทรดได้วันละไม่เกิน 3 ครั้ง จำกัดการขาดทุนครั้งละ 0.3% หากเกินลิมิตที่ตั้งไว้ แสดงว่าตลาดในวันนั้นไม่เหมาะกับการเทรด ให้หยุดเทรด

สรุป การเทรด คือ การทดลอง Probe ตลาด ในจุดที่มีแต้มต่อดีไปเรื่อยๆ โดยมีการคุมความเสี่ยงประจำวันเสมอ

Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *