ว่าด้วยการรู้เยอะ แต่ไม่มีประโยชน์

ได้ไอเดียจากการที่ได้เจอ extension ใน Google chrome ที่เกี่ยวกับการจำกัดเวลาการใช้งานเว็บไซต์พวก social network ที่มักจะทำให้เราเสียเวลาในชีวิต, สมาธิในการทำงานลดลง(limiting distraction website)

โดย extension นั้น ชื่อว่า stayfocusd โดยเว็บไซต์ที่ตั้งค่าให้ blockไป คือ พวก social network ต่างๆ เช่น youtube, facebook ฯลฯ

หลังจากใช้งานก็พบว่า มีเวลาโฟกัสและทำตามเป้าหมายของตนเองได้มากขึ้นเยอะ เช่น การอ่านหนังสือ ฝึกเขียนโปรแกรม เรียนตามแผนที่วางไว้ เป็นต้น

โดยทั้งนี้ไม่ได้จะบอกว่า social network ไม่มีประโยชน์ เพราะ โดยส่วนตัวก็ใช้เป็นช่องทางในการติดตามข่าวสารและอัพเดตความรู้ใหม่ๆอยู่ตลอด แต่สาเหตุที่เราไม่ควรเสียเวลาเสพมันทั้งวัน คือ ข้อมูลส่วนมากใน social media มันไม่ใช่ชุดความรู้ที่เรียงเป็นลำดับอย่างเหมาะสม ไม่เหมือนกับการศึกษาอย่างเป็นระบบ และ มีความกระจัดกระจายไม่ต่อเนื่อง หากเรามัวแต่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวัน ไปกับการดู social media ก็เหมือน เรามัวแต่ฟังคนเขาพูดคุยกัน โดยที่เราไม่ได้ทำงานของเราเองจริงๆสักที(ตัวเราเองก็ไม่ได้พัฒนาขึ้นแต่อย่างใด)

แต่โดยความเห็นส่วนตัว ความรู้ที่จะมี impact จริงๆ ไม่ใช้การคอยตามรู้ทันข่าว-เหตุการณ์ไปเสียทุกเรื่อง แต่มันคือ ความรู้ที่เกิดจากการอุทิศเวลาในการเรียนรู้หรือฝึกฝน สิ่งใดสิ่งหนึ่ง อย่างเป็นลำดับและ ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ จนเกิดเป็นความรู้ ความเข้าใจ ความเชี่ยวชาญในสิ่งนั้นๆอย่างแท้จริง องค์ความรู้แบบนี้ต่างหาก ที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ ทั้งกับตนเอง หรือ กระทั่งต่อโลกใบนี้ ซึ่งไม่มีทางเกิดขึ้นได้จากการอ่านบทความ 1-2 ชิ้น หรือ ดูคลิป 1-2 คลิปแน่ๆ

การใช้เวลาในแต่ละวันไปกับ การติดตามข่าวสาร อัพเดตความรู้ใหม่ๆ จึงควรมีการจำกัดอย่างเหมาะสม ไม่ให้ไปเบียดบังเวลาอันมีค่า ในการพัฒนาตนเองอย่างแท้จริง ของเรา

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเทรด

  1. ทุกสิ่งทุกอย่างมีราคา โดยแต่ละอย่าง มีปัจจัยพื้นฐานที่กำหนดราคาแตกต่างกัน เช่น ราคาส้มในตลาด – ได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านฤดูกาล, ราคาค่าเงิน / ทองคำ – ได้รับผลกระทบจาก การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ,​ หุ้นเทคโนโลยี – ได้รับผลกระทบจากการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นต้น
  2. การเข้าใจปัจจัยพื้นฐานต่างๆที่มีผลกระทบต่อราคา จะทำให้เรากะเกณฑ์จังหวะ ทิศทางของราคาได้ถูกต้อง เช่น
    รู้ว่าเป็นฤดูกาลที่ส้มออกผล ก็ซื้อส้มกิน เพราะราคาถูก,
    รู้ว่าเทคโนโลยี AI จะเปลี่ยนแปลงโลก จึงรีบซื้อหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ AI,
    รู้ว่าเทคโนโลยี NFT, Metaverse ไม่ได้เปลี่ยนแปลงโลก เท่าไหร่ เป็นเพียงการเห่อตามๆกัน จึงรีบขายหุ้นบริษัทที่เกี่ยวข้อง
  3. การรู้ปัจจัยพื้นฐาน ทำให้ช่วยวิเคราะห์แนวโน้มราคาได้อย่างมีหลักการ แต่ทั้งนี้ในการเทรดจริง เราต้องใช้การวิเคราะห์กราฟด้วย(Technical analysis) เพราะ เพื่อหาจุดเข้าที่เหมาะสม
  4. การเทรดทุกครั้ง จะต้องเริ่มวิเคราะห์จากภาพรวมใหญ่ก่อนเสมอ แล้วค่อยๆดูใน Time Frame(TF) ที่เล็กลงๆ คือ ไล่จากกราฟตั้งแต่ TF Week, 1d, 4h ไปจนถึง 1h เพราะ การดูในภาพรวมใหญ่ก่อน มันทำให้เราเห็นภาพกว้าง เห็นเทรนด์หลักในช่วงนั้น และการดูภาพย่อยลงไปตามลำดับ ทำให้เราวิเคราะห์กราฟได้ไม่ตกหล่น ในtrend ที่ย่อยลงมาๆ ซึ่งก็มีผลต่อการขับเคลื่อน Trend ใหญ่เช่นกัน

    * ใน TF ที่เล็กกว่า 1h เช่น 15min, 1min จะไม่ใช้ในการดูเทรนด์หากจะเทรดแบบรันเทรนด์ยาวๆ แต่จะใช้ในการรอจุดเข้าที่เหมาะสม(ถ้ามีเวลานั่งรอกราฟนะ)

    ในการวิเคราะห์กราฟ ให้ตีเส้น แนวรับ-ต้าน, Trend line โดยเริ่มจากใน TF week และตามด้วย TF ที่เล็กลงๆ ตามความเหมาะสม โดยหากใน TF ไหน มีจุดสังเกตที่น่าจะเป็นแนวรับ-ต้าน หรือ Trend ก็ตีเส้นใน TF นั้น และ ค่อยๆ ขยับไปใน TF ที่เล็กลงเรื่อยๆ (ให้ถามตัวเองบ่อยๆ เสมอๆ ว่า ที่ TF ในขณะปัจจุบันนี้ เห็นแนวรับ-ต้าน หรือ trend ที่ตรงไหนบ้างไหม)เป็น Trade set up ขึ้นมา เพื่อเป็นจุดอ้างอิง ในการหาจังหวะเข้าเทรดที่ได้เปรียบที่สุด
  5. ในการเลือกกราฟที่จะเทรด ให้หากราฟที่น่าสนใจ ที่มีโอกาสวิ่งแรงๆในวันนั้น อย่ายึดติดในกราฟใดกราฟหนึ่ง ไม่มีกราฟใดกราฟหนึ่งที่จะทำเงินให้เราทุกครั้ง
    กราฟที่น่าสนใจเป็นจุดเข้าเทรด จะเป็น กราฟที่ดูจะเป็นฝั่งขาขึ้น โดยจะมีโอกาสทำกำไรได้ง่ายกว่าขาลง เพราะ ธรรมชาติของกราฟขาขึ้น จะมีลักษณะพุ่งแรง เป็นเทรนด์ ถือรันเทรนด์ยาวๆได้ ไม่มีมารยาด้วยการหลอกทิ้งไส้แท่งเทียน
    ในขณะที่กราฟขาลง จะน่าสนใจรองลงมา เพราะ มักจะพุ่งแรงในจังหวะที่แคบมาก และยังมีมารยาดีดกลับไปมากิน stoplossได้บ่อยๆ จึงไม่ค่อยคุ้มที่จะเทรด แต่ถ้าหาจุดถือที่ปลอดภัยได้ ก็พอสามารถเล่นได้ แต่ต้องรู้จักเก็บกำไรด้วยนะ
    ส่วนกราฟพักตัว(Sideway) หมายถึงกราฟที่สัปดาห์นั้น หรือช่วงนั้นๆ ดูจะไม่วิ่งเยอะ หรือวิ่งกลับไปมาๆ โดยที่ยังเลือกทิศทางแน่ชัดไม่ได้ อันนี้จะไม่เทรดเลยในสัปดาห์นั้น เพราะ มีความเสี่ยงที่จะผิดมาก จากการที่หาทิศทางแน่ชัดไม่ได้ และกำไรน้อย แถมรันเทรนด์ไม่ได้ ความเสี่ยงสูง
  6. ในการเข้าเทรด จะเข้าเทรด(เปิด order) ใน TF เล็กๆ คือ 1h ในกรณีทั่วไป หรือ 1min กรณีที่จังหวะมันได้จริงๆ โดยต้องเป็นจุดเข้าที่ได้เปรียบตาม Trade set up ที่เราทำไว้ เพื่อให้เราสามารถใช้ stop loss ที่แคบลงและใช้ประโยชน์จาก Leverage ได้สูงสุด
    โดยที่ TF 1hr จะคำนวนขนาดไม้ ให้เสีย stop loss ไม่เกิน 1% ของทุนในพอร์ต
    หากเป็น TF 1min จะไม่ให้เสีย เกิน 0.3% ของทุนต่อ 1 ไม้เทรด
  7. ต้องรู้ ความรู้พื้นฐาน ในการเทรด ได้แก่ Money management, แนวรับ-แนวต้าน(support – resistant zones), เทรนด์ไลน์(Trend line), Risk reward ratios
  8. ต้องรู้ ปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ของสิ่งที่เราจะเทรด ถ้าสิ่งไหนเราไม่รู้ ก็ต้องหาความรู้ในเรื่องนั้นๆ จนพอเข้าใจ แต่ถ้าลองหาความรู้เองบ้างแล้ว แต่ก็ เข้าไม่ถึง หรือ ไม่เข้าใจ ไม่ควรเทรด เช่น
    • โดยส่วนตัว พอเข้าใจเรื่องเทคโนโลยี เลยเทรดหุ้นกลุ่มเหล่านั้น เพราะ รู้จักและเข้าใจ impact ของบริษัทเหล่านี้พอสมควร
    • โดยส่วนตัวยังไม่เข้าใจเรื่อง bitcoin หรือ ลองศึกษาแล้ว รู้สึกว่ามันยังใช้จริง ไม่ง่ายพอ ยากเกินไปสำหรับคนธรรมดาๆ และ กินทรัพยากรพลังงานเยอะ ซึ่งขัดกับหลัก sustainability และ หลักการ programming (ที่ควรใช้ computing resource อย่างมีประสิทธิภาพ) อีกทั้งในอนาคต หากมีคนคิดค้น เงิน หรือ ตัวเก็บมูลค่าใดๆ ที่สามารถแก้ไขข้อจำกัดของ bitcoin ได้ ก็สามารถมาทนแทน bitcoin ได้ง่ายๆเลย – จึงเป็นเหตุผลที่ยังไม่ลงทุนระยะยาว ใน Bitcoin หรือ crypto อื่นใด
  9. ต้องรู้จักหลายตลาด เพราะ ไม่ใช่ตลาดใดตลาดหนึ่งจะมี การเคลื่อนที่ของราคาตลอดเวลา เช่น Forex, หุ้นไทย, หุ้นอเมริกา, Crypto เป็นต้น ถ้าช่วงไหนตลาดหนึ่งไม่ค่อยขยับ เราก็ไปเทรดตลาดที่วิ่งแรงกว่า การไปย่ำอยู่ในตลาดที่ไม่วิ่ง มีแต่เสี่ยงที่จะขาดทุน จากความไม่แน่นอนในช่วง sideway
    • นอกจากนี้ ต้องรู้ระยะเวลาที่ตลาดเปิดด้วย โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ตลาดฝั่ง US เปิด (โดยจะเริ่มตั้งแต่ 20.30น ของไทย) เพราะ จะมี volume เข้ามามาก ทำให้กราฟขยับได้เยอะ
  10. ทั้งหมดนี้เป็นความคิดเห็น และ ประสบการณ์อันเล็กน้อยของตนเอง ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุนใดๆนะครับ

พิมพ์สัมผัส

ได้ดูยูทูป การเล่าประสบการณ์ของคนที่สามารถพิมพ์สัมผัสได้ สรุปได้ประมาณนี้ คือ

  1. การพิมพ์สัมผัสได้ เกิดจาก ความจำของกล้ามเนื้อ(Muscle memory) ไม่ใช่การท่องจำตำแหน่งของคีย์ ในคลิปเล่าว่า เวลาที่เขาจะพิมพ์อะไร เขาไม่ได้ต้องมาคอยนึก ว่าปุ่มไหนอยู่ตรงไหน แต่นิ้วจะไปของมันได้เอง
  2. สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องทำ คือ การวางนิ้วในตำแหน่งมาตรฐาน โดยจะเป็นตำแหน่งสำหรับพักนิ้ว หลังจากที่เอื้อมไปกดคีย์ต่างๆ ซี่งบนคีย์บอร์ดจะมีการทำปุ่มนูนมาให้ที่ตัวอักษร F และ J สำหรับให้วางนิ้วชี้มือซ้ายและมือขวาตามลำดับ และนิ้วต่อๆไป(นิ้วกลาง, นาง, ก้อย)ก็เรียงตามคีย์ที่อยู่ถัดๆไป

    การที่เรามีตำแหน่งมาตรฐานในการวางนิ้ว จะทำให้สมองได้เรียนรู้ pattern การขยับนิ้วในรูปแบบเดิมซ้ำๆ จนเกิดเป็นความเคยชิน/ความจำของกล้ามเนื้อ หากเราไม่มีตำแหน่งมาตรฐาน แม้จะฝึกจนพิมพ์ได้เร็วพอสมควร แต่มันก็จะทำให้เกิด muscle memory ได้ยาก เพราะ ตำแหน่ง/รูปแบบ การขยับนิ้วไม่ได้เป็นรูปแบบคงเดิม (มีบางกรณีที่เกิดได้ แม้จะไม่ได้ฝึกวางนิ้ว เช่น พิมพ์ชื่อตัวเองซ้ำๆบ่อยๆ จนพิมพ์ได้อย่างรวดเร็ว แทบไม่ต้องดูคีย์บอร์ด แต่พอจะพิมพ์คำอื่นก็ต้องกลับมาดูคีย์บอร์ดใหม่)
  3. ฝึกพิมพ์โดยวางนิ้วอ้างอิงกับตำแหน่งมาตรฐานเสมอ แรกๆจะช้า และฝืน สามารถมองคีย์บอร์ดไปด้วยก็ได้ในช่วงแรก (พอกล้ามเนื้อเริ่มสามารถจดจำได้ ก็จะลองเปลี่ยนมาไม่ต้องมอง) ซึ่งการฝึกนอกจากจะ ทำไปกับการพิมพ์งานปกติแล้ว ก็ยังสามารถหาแบบฝึกตามเว็บ ที่จะทำให้ฝึกคีย์ได้อย่างทั่วถึง และเป็นเร็วขึ้น สำหรับภาษาไทยก็ เช่น https://www.typingstudy.com/th-thai_kedmanee-3/lesson/1

จากประสบการณ์ ทีแรกก็ยังไม่เชื่อว่ามันจะทำได้โดยไม่ต้องท่องจำ แต่หลังจากที่ฝึกวางนิ้วในตำแหน่งมาตรฐานขณะพิมพ์มาสักพัก ก็ได้ลองกลับไปทำแบบฝึกหัดพิมพ์ ที่มักเป็นลำดับตัวอักษรประหลาดๆ (เช่น หกสา สว่าห) ก็กลับกลายเป็นว่าพิมพ์ได้อย่างน่าประหลาดใจ ฮาๆๆ แสดงว่าวิธีนี้น่าจะเป็นการเรียนรู้ที่ถูกแล้วล่ะ

แรกเริ่มเรียนรู้

ตลอดชีวิต ควรเป็นคนที่กระหายในการสะสมความรู้ ควรเป็นคนเปิดกว้างในการเรียนรู้ไม่ว่าจะศาสตร์สาขาไหน นั้นล้วนแต่มีประโยชน์เสมอ อย่าเป็นคนปิดกั้น อย่ามีอคติในศาสตร์ใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเรายังไม่รู้จริง

ควรเป็นคนเปิดรับความรู้ใหม่ๆตลอดเวลา ความรู้คือ โอกาส เราจะมองเห็นโอกาส หรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้ ก็ต่อเมื่อมีความรู้มาก่อน

ต่อให้เรามีเงิน แต่ถ้าเราไม่มีความรู้ เราก็สูญเสียเงินไปกับความไม่รู้ของเราอยู่ดี แต่ถ้าเรามีความรู้ เราก็สามารถใช้ความรู้เป็นช่องทางในการนำเงินไปสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับเราได้เรื่อยๆ

นอกจากนี้ ในการเรียนรู้ อย่าโฟกัสไปที่ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ในรูปแบบของ เงิน, ชื่อเสียง, ความสบายต่างๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นกับดักของการพัฒนาตนเอง แต่ให้โฟกัสไปที่ ทุกขณะในการทำงาน, การเรียนรู้, การฝึกฝนทักษะใหม่ๆ ความสำเร็จของเรา ที่แท้จริง ไม่ได้วัดจากชิ้นงานว่าสำเร็จไปกี่ชิ้น แต่วัดจากว่า เราได้พัฒนาความสามารถของตนเองไปมากแค่ไหน

สิ่งที่ชอบ vs ไม่ชอบ

โดยส่วนตัวได้ใช้เวลาศึกษาเล่าเรียนในสิ่งที่ไม่ชอบ และเก็บประสบการณ์ไปแล้วกว่า 9 ปี จนตอนนี้อายุล่วงเข้าเกือบ 1/3 ของชีวิต พบว่า การที่เราทำสิ่งที่ไม่ชอบ มันไม่เอื้อให้รู้สึกอยากจะพัฒนาในสิ่งที่ทำอยู่ จนกระทั่งไม่ทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จแต่อย่างใด งานที่ทำไม่พัฒนา ไม่มีความก้าวหน้า ดูเหมือนจะเสียเวลาไปพอสมควร ถ้าปล่อยแบบนี้ไปจนแก่ คงแย่แน่ๆ

กลับกันคือ ตอนนี้จะลองออกจากสิ่งที่ไม่ชอบทั้งหมด และกลับไปเก็บตัวศึกษาในสิ่งที่ชอบ ด้วยระยะเวลาไม่ถึงปี อยากจะรู้เหมือนกันว่า ตัวเราเองจะพัฒนาไปอย่างรวดเร็วแค่ไหน

เกี่ยวกับ

เรื่องราวของตัวผม และ เว็บบล๊อกนี้ เกิดจากการที่ผมเอง ในวัยใกล้จะ 30 ต้องการลาออกจากงานประจำที่มีรายได้มั่นคงในสายตาของ ‘คนรุ่นเก่า’ เพื่อออกมาทำตามความฝัน ทำในสิ่งที่ตนเองชอบ โดยอาศัยพื้นฐานความเชื่อว่า ทุกๆคนไม่ได้มีความชอบ และความถนัดที่เหมือนกัน การที่ใครก็ตามได้ทำในสิ่งที่ตนเองชอบและถนัด ก็ย่อมจะเกิดประโยชน์ต่อโลกใบนี้ได้มากกว่า การทำในสิ่งที่เราไม่ได้ชอบ

การออกเดินทางตามเส้นทางชีวิตของตนเองในครั้งนี้ เงินเก็บที่มีติดตัว จะสามารถพออยู่อย่างประหยัด ได้ประมาณ 1 ปี และมี ความรู้เก่าๆ จากความสนใจ ในสมัยเรียนชั้นมัธยมฯ ที่จะต้องมาต่อยอดใหม่อีกที และยังรวมถึงทักษะการอ่านภาษาอังกฤษอีกเล็กน้อย ที่ฝึกฝนไว้จากตอนเรียนมหา’ลัย ที่ทำให้สามารถหาความรู้ อ่านตำราได้อย่างกว้างขวาง และเห็นโลกกว้างพอสมควร

โดยเนื้อหาใน Blog นี้ จะเป็นการบันทึกเรื่องราวของตัวผมเองในเรื่อง ความคิด ความเชื่อ การตัดสินใจ และ การพัฒนาตนเองของตัวผมเอง ในแต่ละช่วงเวลา ผู้อ่านจะได้เห็นตัวอย่างการดำเนินชีวิตของคนๆหนึ่ง ได้เห็นแนวคิด ความเชื่อ ในขณะนั้นทั้งในอดีตและขณะปัจจุบัน ว่าสมมติฐาน หรือ แนวคิดอะไร เป็นเหตุที่นำมาสู่ความสำเร็จ หรือ ล้มเหลว เผื่อจะเป็นประโยชน์ให้ผู้อ่านได้เป็น แนวทาง (ในกรณีประสบความสำเร็จ) หรือ อุทาหรณ์ (ในกรณีประสบความล้มเหลว) ต่อไปครับ

Hello world!

Welcome to WordPress. This is your first post. Edit or delete it, then start writing!