แต่ก่อนเคยเข้าใจว่าการพัฒนาตนเองมีหลากหลายวิธี แต่ความจริงแล้วควรจะเรียกว่ามีหลายระดับมากกว่า
ส่วนใหญ่ในทางโลก(ความรู้จากวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน) มักจะเป็นในระดับเชิงพฤติกรรม เช่น การงดเว้นสิ่งบันเทิง ซึ่งสัมพันธ์กับสมดุลของ Dopamine ในสมอง หรือ ระดับกายภาพ เช่น ออกกำลังกายช่วยให้สมองดี, การอดอาหาร เพื่อให้เกิดการชะลอวัย ลดการอักเสบในร่างกาย ป้องกันสมองเสื่อม เป็นต้น ซึ่งโดยรวมๆมักเป็นในระดับข้อวัตร-กิจวัตร(routines) และ การงดเว้น ซึ่งหากเทียบกับในทางพุทธฯ โดยส่วนตัวคิดว่าสิ่งเหล่านี้อยู่ในระดับของ ศีล ซึ่งก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ควรแก่การศึกษาและพัฒนา แต่ยังสามารถเปลี่ยนแปลงกลับไปเป็นอย่างเก่าได้ หากมีปัจจัยมากระทบ เพราะ เป็นเพียงเชิงพฤติกรรม ไม่ได้เปลี่ยนจากความเข้าใจข้างใน จากการเห็นประโยชน์และโทษจริงๆ
ถ้าเปรียบเทียบชีวิตเหมือนหุ่นยนต์ที่ซับซ้อนมากๆตัวหนึ่ง ด้วยความที่มันซับซ้อน เราไม่สามารถเข้าใจและควบคุมมันได้ทั้งหมด เราจึงพยายามศึกษาแต่ละส่วนๆ และควบคุมแบบแยกเป็นส่วนๆ นี่คือ ลักษณะของการพัฒนาตนเองจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน
การเจริญสติ
ในทางพุทธมีสิ่งที่เหนือกว่านั้น เรามีหลักสูตรการพัฒนาทั้งระดับ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่ง การเจริญสติปัฏฐาน (อยู่ในระดับสมาธิและปัญญา) เปรียบเหมือนกุญแจดอกสำคัญ ที่จะไขเข้าสู่ความลับในแกนกลาง ในการเรียนรู้และเข้าใจการทำงานของหุ่นยนต์ตัวนี้ อย่างแท้จริง โดยหลักการฝึกสติจะเป็นการคอยระลึกถึงปัจจุบันขณะ ของร่างกาย(กาย) ความรู้สึก(เวทนา) ความคิดปรุงแต่ง-กิเลส(จิต) สภาพความเป็นจริงในธรรมชาติ(ธรรม)
ซึ่งสามารถเลือกดูเพียงหมวดใดหมวดหนึ่ง ที่เด่นชัดที่สุดกับตัวเรา โดยส่วนใหญ่ ที่ดูง่ายสำหรับ คนยุคปัจจุบันจะเป็นหมวด จิต และกาย เช่น
- คนเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงความรู้สึกเกิดขึ้นตลอดวัน จากการรับข้อมูลข่าวสาร กิเลสจะถูกปรุงแต่งขึ้นอย่างเด่นชัด จะเหมาะกับการดูจิต
- คนที่อยู่กับธรรมชาติ ชีวิตไม่ได้ติดตามข้อมูลข่าวสารเยอะ จะเหมาะกับการดูกาย เพราะ เมื่อจิตไม่ค่อยมีอะไรมากระทบให้เปลี่ยนแปลง การรับรู้การเปลี่ยนแปลงของร่างกายจะชัดเจนกว่า
เพียงแค่เราหัด ระลึกถึงปัจจุบันขณะ ในชีวิตประจำวันให้ได้บ่อยๆ ในเบื้องต้น อาจแค่ครั้งสองครั้งในรอบหลายวัน ไปจนถึงวันละครั้ง หรือ หลายๆครั้งต่อวัน เช่น กรณีดูจิต รู้ทันความโกรธ ว่าอ้าวเมื่อครู่นี้เผลอไปนึกโกรธ รู้ทันความโลภ ว่าเมื่อครู่นี้เผลอไปคิดโลภ รู้ทันความหลง ว่าเมื่อครู่นี้เผลอไม่รู้สึกตัวไปนานเลย เป็นต้น เมื่อใดที่เราเริ่ม มีสติ เห็นกิเลสตนเอง หรือ รู้ทันความหลง ขาดสติ เราจะเริ่มเป็นอิสระ จากความติดข้องหรือถูกครอบงำจากกิเลสตัวนั้นๆมากขึ้นๆ ——>>>> ในทุกๆครั้งที่ มีสติ คือ จุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลง และ การพัฒนาตนเอง
เมื่อฝึกมากๆเข้า จิตจะชำนาญและคุ้นชิน ที่จะมีสติได้เอง(ผิดจากแต่ก่อนที่ อาจจะคุ้นชินที่จะปรุงแต่งกิเลส เช่น โลภเก่ง โกรธบ่อย หลงเบลอๆตลอดวัน) จิตจะรู้สึกได้ถึงความคล่องแคล่ว ว่องไว ควรแก่การงาน และรู้สภาวะอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งถ้าใครรู้สึกว่า การมีสติรู้ มันออกทื่อๆ แข็งๆ อึดอัด ของให้รู้ว่ายังไม่ถูกต้อง ให้หยุดแล้วฝึกใหม่
เมื่อเรารู้มากๆเข้า เห็นสภาวะมากๆเข้า เราจะสังเกตบางสิ่งในชีวิตที่ซ่อนอยู่ เป็นลักษณะธรรมชาติที่เกิดร่วมกับทุกอย่าง มี 3 ลักษณะเรียกว่า ไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง เกิดดับ(อนิจจัง) ทนอยู่นานๆไม่ได้(ทุกขัง) ไม่ใช่ตัวเรา ควบคุมบังคับไม่ได้(อนัตตา) ทั้งนี้อาจในคนหนึ่งๆ อาจไม่ได้เห็นชัดทุกลักษณะ แต่จะเห็นชัดในแง่มุมใด แง่มุมหนึ่ง ตามลักษณะความเหมาะสมแต่ละคน เช่น
- ถ้าระลึกถึงร่างกายบ่อยๆ จะเห็นว่าร่างกายเป็นทุกข์ ต้องเปลี่ยนอิริยาบถอยู่เสมอๆ ไม่สามารถอยู่นิ่งในอิริยาบถเดิมได้ตลอดไป(ทุกขัง)
- ถ้าระลึกถึงจิต จะเห็นว่า ในช่วงเวลาหนึ่งๆ มีความคิด ความรู้สึก กิเลส เกิดขึ้นอย่างมากมายนับไม่ถ้วน ล้วนแล้วแต่เกิดแล้วดับไป(อนิจจัง) ไม่มีอะไรอยู่ได้นานถาวร
- หรืออาจระลึกถึงสภาพธรรม เช่น แม้แต่สติเอง หรือ สภาวะธรรมทุกอย่าง ก็ไม่ใช่ของเราจริงๆ เพราะ ยังเกิด-ดับของมันได้เอง ไม่อยู่ใต้อำนาจการควบคุม ให้เป็นอย่างที่ต้องการได้จริงๆ(อนันตา)
การเห็นกระบวนการเหล่านี้ คือ การที่จิตเริ่มที่จะเกิดการเรียนรู้ความจริงของชีวิต(เจริญปัญญา-วิปัสสนา) ที่ไม่ได้มีตัวเราแท้จริง แต่เป็นเพียงสภาวะธรรมย่อยๆ เกิดและดับ สืบต่อกัน จนดูเหมือนมันจะต่อเนื่อง จับต้องได้เท่านั้น หากทำต่อเนื่อง จิตก็จะเรียนรู้จนเข้าใจ และ ปล่อยวางความยึดถือในตัวตนได้ในที่สุด
เขียนมาขนาดนี้ โดยส่วนตัว ณ ปัจจุบัน ก็ยังเป็นผู้ศึกษาอยู่นะครับ ยังไม่ได้บรรลุธรรม เพียงแต่เขียนจากประสบการณ์ในแง่มุมหนึ่งเท่านั้น ถ้าใครสนใจการปฏิบัติธรรม แนะนำให้ศึกษา จากการฟังธรรมเทศนาของ พระอาจารย์ปราโมทย์ วัดสวนสันติธรรมได้ครับ รวมทั้งลองอ่านพระไตรปิฎกควบคู่กันไปด้วย
เกราะป้องกันสติ
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือ ศีล 5 เพราะ เป็นรากฐานสำคัญของจิตใจของมนุษย์ ถ้าคนหรือสัตว์ก็ตาม ผิดศีล 5 จิตจะไม่มีทางสงบพอที่จะฝึกเจริญสติได้เลย ศีล5 เปรียบเหมือนบัตรผ่านใบแรกเพื่อที่จะสามารถปฏิบัติธรรมได้ ถ้าผิดศีลสักครั้ง อาจจะไม่สามารถปฏิบัติธรรมได้อีกนาน
รักษาศีล 5ให้ดีที่สุด ตั้งใจว่าจะงดเว้นการเบียดเบียนทางกายวาจา ไม่ว่าจะยากลำบากแค่ไหนก็ตาม ระลึกถึงศีล5 ในทุกวันหลังตื่น และระลึกบ่อยๆตลอดวัน
Leave a Reply